วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Car Dynamic “จิก เกาะ หนึบ แน่น”

 การขับรถยนต์ แค่สตาร์ท เข้าเกียร์แล้วออกตัว เท่านี้ยังไม่เรียกว่าขับรถเป็นมันยังมีอะไรอีกมากทีเดียว...!
ถ้ารู้จักเทคนิคที่ดีในการขับขี่ นอกจากการควบคุมเป็นไปได้ดั่งใจแล้ว
บางทียังช่วยให้เอาตัวรอดได้เมื่อตกอยู่ใน สถานการณ์คับขัน...!

ก่อนต่อยอด ความรู้พื้นฐานต้องแน่นซะก่อน แต่ที่น่าสนใจต้องมาดูทีละเรื่อง เริ่มจากการกระจายน้ำหนักเป็นไปได้ ใกล้เคียงกันที่ส่งผลต่อการขับขี่ และการควบคุมรถยนต์ และต้องเข้าใจหลักการถ่ายเทน้ำหนักด้วย ในรถสปอร์ตราคาแพง หลายรุ่นออกแบบให้น้ำหนักที่กดลงบนเพลาหน้า/เพลาหลัง หรือล้อหน้า/ล้อหลัง มีอัตราการกระจายน้ำหนัก (Weight Distribution) ประมาณ 50:50 หมายถึง
จะได้ตัวเลขนี้ตอนจอดหยุดนิ่ง แต่ถ้าหากขณะที่ขับอยู่แล้วเบรก น้ำหนักก็กดลงบน ล้อหน้าเพิ่มขึ้น
น้ำหนักที่กดลงบนล้อหลังจะลดลงด้วย เพราะการถ่ายเทน้ำหนัก และขณะที่เร่งจะเกิดการถ่ายเทน้ำหนักในทิศทางตรงข้ามกับการเบรค รวมทั้งการเลี้ยวก็จะเกิดการถ่ายเทน้ำหนักที่มีผลต่อเสถียรภาพการควบคุมรถยนต์

จุดศูนย์ถ่วง (C.G.) เป็นจุดรวมน้ำหนักของรถยนต์ทั้งคัน
ผู้ออกแบบรถยนต์พยายามที่จะลดจุดศูนย์ถ่วงให้อยู่ต่ำที่สุด เพื่อช่วยให้เสถียรภาพของรถ
ขณะเลี้ยวโค้งสามารถใช้ความเร็วได้สูงขึ้น โดยที่รถยังสามารถคงตัวอยู่ได้ปลอดภัย
สำหรับรถยนต์ที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงจะทำให้รถยนต์พลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถยนต์ที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
สังเกตได้จากรถแข่งทางเรียบ ตัวถังของรถจะค่อนข้างเตี้ย
นอกจากนี้ตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงตามแนวยาวของตัวรถจะส่งผลต่อการเกิด สลิป แองเกิล
ถ้าเลื่อนจุดศูนย์ถ่วงมาทางด้านหน้าของรถเพิ่มมากขึ้นจะเกิดสลิปแองเกิลที่ล้อหน้าเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ล้อหลังจะเกิดขึ้นน้อยลง และถ้าเลื่อนจุดศูนย์ถ่วงมาทางด้านหลัง ผลที่ได้จะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน
การเกิดสลิปแองเกิลที่ล้อหน้าจะทำให้เกิดอาการอันเดอร์สเตียร์หรืออาการหน้าดื้อ
แต่ถ้าเกิดที่ล้อหลังมักจะเกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ เบื้องต้นเอาเท่านี้ก่อนแล้วกัน



อาการอันเดอร์สเตียร์และโอเวอร์สเตียร์

ถ้ารู้ไว้ก็ไม่เสียหาย เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ อาการอันเดอร์สเตียร์ มักจะเกิดขึ้นกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า
ลักษณะการเกิดเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วแล้วหักพวงมาลัย ล้อหน้าจะไถล และแถออกจากโค้ง หรือหน้าดื้อ
การแก้ไขสามารถทำได้โดยการลดความเร็วลงหรือผ่อนคันเร่ง พร้อมทั้งคืนพวงมาลัยกลับ
ส่วนโอเวอร์สเตียร์ (Oversteer) บางทีเรียกว่าอาการท้ายรถปัดขณะเลี้ยวมันเป็นพฤติกรรมอีกอย่าง
ของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ
ขึ้นอยู่กับความเร็ว และลักษณะการขับ อาการนี้จะเกิดต่อเมื่อรถยนต์เคลื่อนที่แล้วหักเลี้ยว
ล้อหน้าสามารถวิ่งไปได้ในทิศทางที่ควบคุมให้ไปตามโค้ง ในขณะที่ล้อหลังจะเกิดการลื่นไถลปัดออกนอกโค้งตาม
แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ เทคนิคของการขับรถของนักแข่งเก่ง ๆ สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้โดยใช้การดริฟต์ที่
ต้องอาศัยความสัมพันธ์กันระหว่างกำลังที่ถ่ายทอดลงพื้น การถ่ายเทน้ำหนัก องศาการหมุนของพวงมาลัย
เพื่อแก้อาการท้ายปัดโดยการหักล้อไปในทิศทางตรงข้ามกับรัศมีของโค้ง
หรือเรียกว่าการเคาน์เตอร์สเตียร์ที่ต้องมีการฝึกฝน

โอเวอร์และอันเดอร์ ต้องรู้จักขีดจำกัดในการยึดเกาะถนนของยางซะก่อน โดยพื้นที่ของหน้ายางรถยนต์ที่สัมผัสกับ
พื้นถนน ขณะที่รถยนต์วิ่งไปตามถนนจะมีขนาดพอ ๆ กับแผ่นโปสการ์ดเท่านั้นเอง
แรงที่เกิดขึ้นบริเวณหน้ายางเพื่อยึดเกาะถนน จึงมีขีดจำกัด แรงสามารถเกิดขึ้นได้ขณะหักเลี้ยว หรือการเลี้ยวโค้ง
พร้อมกับการเร่งเครื่องยนต์และการเบรก ทั้งหมดเรียกว่า “Cornering Force”
ผลของแรงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้แรงต้านการลื่นไถลของหน้ายางลดลง ขณะที่รถยนต์เลี้ยวโค้งโดยไม่มีการเบรค หรือ
เร่งเครื่องยนต์อย่างรุนแรงจะทำให้ค่าแรงเลี้ยว (Cornering Force) สูงที่สุด
แต่ถ้าการเลี้ยวโค้งทำพร้อมกับ การเร่งเครื่องยนต์ หรือพร้อมกับการเบรกจะส่งผลให้การเลี้ยวโค้งลดลง
ทำให้เกิดมุมสลิป แองเกิล เพิ่มมากขึ้นหากความเร็วของรถสูงขึ้น
ถ้าความเร็วของรถยนต์มากเกินไปมุมสลิป แองเกิล จะเพิ่มขึ้นเกินขีดจำกัด ส่งผลกระทบร้ายแรงที่ทำให้ยางรถไม่
สามารถยึดเกาะถนนได้ ตัวรถจะลื่นไถล ซึ่งกลายเป็นอาการอันเดอร์สเตียร์ และโอเวอร์สเตียร์ในที่สุด
ที่จริงถ้าพ้นขีดจำกัดของการยึดเกาะถนนของหน้ายางก็จะเกิดสลิป แองเกิล หรือมุมไถลลื่นนั่นเอง

การขับรถจะมีแรงต่าง ๆ ทางด้านข้าง ทำให้รถเซออกนอกทาง เช่น แรงลม แรงเหวี่ยง ความเอียง พื้นถนน ฯลฯ
แรงเหล่านี้จะส่งไปที่ยาง ทำให้ยางเกิดการบิดตัวไปจากหน้าสัมผัสของยาง แรงทำให้ยางบิดตัวเปลี่ยนมุมไป
ถ้าเกิดสลิป แองเกิล ขึ้นที่ล้อหน้า อาการรถจะกลายเป็นอันเดอร์สเตียร์
และถ้าเกิดสลิป แองเกิล ที่ล้อหลัง จะกลายเป็นอาการโอเวอร์สเตียร์นั่นเอง

ข้อมูลจาก : นิตยสาร รถวันนี้ ปีที่ 8 ฉบับที่ 358





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น