วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ขับขี่ปลอดภัย ... ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ

การตั้งสถาบันสอนกฎจราจรแห่งแรกในประเทศไทย เป็นเรื่องน่าชื่นชมในความตั้งใจดีของกระทรวงศึกษาธิการกับ
กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพราะเป็นที่รู้กันมานานว่าพฤติกรรมเสี่ยงคือ สาเหตุใหญ่ของอุบัติเหตุ
การที่เล็งเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย คงสะท้อนความเชื่อของผู้รับผิดชอบว่า การสอนกฎจราจร ตั้งแต่เยาว์วัยจะนำไปสู่
การลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ในระยะยาว เข้าทำนอง คติ “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”

ถ้าความเชื่อนั้นถูกต้อง ก็แปลว่าในระยะสั้น เด็กที่ผ่านการสอนของสถาบันนี้จะข้ามถนนเดินถนนถูกกฎ
ในระยะยาวเมื่อโตขึ้นมีรถขับ จะขับรถด้วยความ ปลอดภัยตามกฎจราจร
อนุมานต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่ผ่านการสอนจะประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าเด็กทั่วไป
เมื่อโตขึ้นจะประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่น้อยกว่า คนรุ่นเดียวกันที่ไม่ผ่านการสอน

ผู้เขียนก็อยากเอาใจช่วยให้เป็นไปในทางที่ดี แต่เมื่อไปสำรวจความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมสังเคราะห์ไว้
ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ชะรอยความเชื่อข้างต้นจะ ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้สนับสนุน

ดร.เมย์ฮิว แห่งมูลนิธิเพื่อการวิจัยการบาดเจ็บทางถนน ประเทศแคนาดาได้ตีพิมพ์บทสังเคราะห์องค์ความรู้
ใน วารสาร Injury Prevention ฉบับที่ 8 ปีพ.ศ.2545 รวบรวมความรู้ เกือบสามสิบปี
ตั้งแต่ปีพ.ศ.2518-2545 สรุปใจความสำคัญได้ว่า
โครงการฝึกอบรมหรือสอนขับขี่รถยนต์/จักรยานยนต์ทั้งหลายล้วนล้มเหลวในการส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย

ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับผลการสังเคราะห์ความรู้ก่อนหน้านี้ของนักวิชาการหลายกลุ่ม เช่น
จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันTransport South Australia
ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มCochrane Injuriesในสหราชอาณาจักร ฯลฯ
ซึ่งเสนอผลงานในระหว่างปีพ.ศ.2543-45

ซ้ำร้ายกว่านั้น งานวิชาการหลายชิ้นยังสรุปด้วยว่า การสอนขับขี่ชักนำให้ผู้เรียนได้ใบขับขี่มาเร็วกว่าคนวัยเดียวกันที่
ไม่ได้ผ่านการสอน เลยออกถนนเร็วกว่า และประสบอุบัติเหตุมากกว่าเพื่อน

ในรายงานชิ้นหนึ่งแสดงตัวเลขให้เห็นว่า ในบรรดานักเรียนชั้นมัธยมปลาย 16,388 คน
เมื่อจำแนกเป็นสามกลุ่ม สองกลุ่มแรกผ่านการอบรมการขับขี่หลักสูตร 72 ชั่วโมง และ24 ชั่วโมง
ได้ใบขับขี่ร้อยละ 88.4 และ 86.2 ตามลำดับ

ในขณะที่กลุ่มที่สามไม่ได้ผ่านการอบรมได้ใบขับขี่ ร้อยละ 84.3
เมื่อติดตามต่อมาพบอัตราการประสบอุบัติเหตุในสองกลุ่มแรกเท่ากับร้อยละ 28.6 และ 26.5 ตามลำดับ
และ ในกลุ่มที่สาม พบร้อยละ26.7


ถึงตรงนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับข้อสรุปที่ออกจะสวนทางกับสามัญสำนึกทั่วไป
ผู้เขียนจึงขอขยายความต่อไปว่า มีเหตุผลอันใดที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวเช่นนั้น

1. การสอนฯละเลยหรือไม่ให้น้ำหนักเพียงพอต่อการปลูกฝังความรู้และทักษะที่จำเป็นยิ่งต่อการขับขี่ ปลอดภัย
ตัวอย่างเช่น ทักษะในการประเมิน ความเสี่ยงบนถนน ผู้เรียนอาจไม่ถูกฝึกให้ตระหนักและสามารถประเมินความ
เสี่ยงของการขับขี่ยามค่ำคืน การขับขี่ขณะถนนลื่น การขับจักรยานยนต์บนช่อง ทางที่ใช้ความเร็วสูง เป็นต้น

2. การสอนฯ ไม่สามารถปลูกฝังเจตคติที่ดีในการขับขี่ปลอดภัย ทำให้ผู้เรียนไม่ใส่ใจที่จะนำทักษะและความรู้
ไปใช้ในชีวิตจริง ความจริงที่อาจมองข้ามคือ ในชีวิตจริงมีสิ่งเร้าให้ผู้เรียนขับขี่ไปในทางที่เสี่ยงภัย เช่น
โฆษณายานยนต์และผลิตภัณฑ์โดยใช้ความแรง ความเร็วเป็นจุดขาย ภาพยนตร์แนวแอ๊คชั่นที่ตัวละครแสดงลีลา
ผาดโผนขณะขับขี่ เพื่อนฝูงที่มีค่านิยมความเร็วและแรงในการขับขี่ ฯลฯ
สิ่งเร้าเหล่านี้มักมีแรงชักจูง(ในทางเสื่อม) มากกว่าเจตคติขับขี่ปลอดภัย ที่หลักสูตรปลูกฝังไว้

3. การสอนฯ สร้างความเชื่อมั่นเกินจริงในความสามารถของตนเอง มีหลักสูตรจำนวนไม่น้อยฝึกให้ผู้เรียนขับขี่
สามารถประคองรถในสภาพการณ์ที่ลื่นไถล แต่ในชีวิตจริงโอกาสที่จะเผชิญสถานการณ์นี้มีน้อย
ทำให้ทักษะที่เรียนมาเสื่อมถอยไป โดยที่ผู้เรียนไม่ทันรู้ตัว เลยหลงผิดว่าตนยังมีความสามารถนั้นอยู่
จึงชะล่าใจ ปล่อยให้ตนเองเข้าสู่สถานการณ์ลื่นไถลโดยไม่จำเป็น
ถ้าหันมาเน้นการฝึกสอนให้ผู้เรียนรู้จักและตระหนักในขีดจำกัดของตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะลดความฮึกเหิม
ลดความชะล่าใจนั้นได้ จะสังเกตเห็นว่า คนตาบอดและคนพิการอื่นๆมักระมัดระวังตัวในการเดินมากกว่าคนปกติ
เพราะตระหนักรู้ขีดจำกัดของตนเองตลอดเวลา

4. การสอนฯไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนจัดการกับสิ่งเร้าใจให้สุ่มเสี่ยงได้
มีการวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอุบัติเหตุกับสิ่งเร้า ใจให้สุ่มเสี่ยง เช่น
การท้าทายของเพื่อนให้แข่งรถ ตัวแบบในภาพยนตร์ การโฆษณาที่เย้ายวนด้วยค่านิยมโฉบเฉี่ยว เร็วแรง ฯลฯ
สิ่งเร้าในทางเสี่ยงเหล่านี้ รุมเร้าสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ในขณะที่การสอนขับขี่ส่วนใหญ่มองข้ามการฝึกทักษะ ฝึกการครองสติให้เผชิญกับสิ่งเร้าอย่างมีวิจารณญาณ

5. การสอนฯ ส่วนใหญ่มักมีหลักสูตรประเภทตัดเสื้อโหลแจกคือ ไม่คำนึงถึงพื้นเพทางสติปัญญา ทักษะ ความรู้
จิตใจ และร่างกายที่หลากหลาย จึงอาจจะไม่สามารถเติมเต็มในส่วนขาดที่สำคัญของแต่ละบุคคล
คนที่ตาบอดสีอาจผ่านการสอนโดยไม่ได้รับการพัฒนาทักษะในการแยกแยะสัญญาณไฟจราจร
ทำให้อาจตีความสัญญาณไฟผิดพลาด จนฝ่าไฟแดงและเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น


ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เจตนาให้ผู้อ่านตีความว่า ควรยกเลิกการสอนขับขี่ทุกรูปแบบ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า
ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมากรออยู่ หากการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนในเรื่องนี้จะก่อประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า

กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ตลอดจนภาคธุรกิจที่สนใจเรื่องนี้
ควรระดมสมอง และสังเคราะห์องค์ความรู้ให้รอบด้านเพื่อคิดค้นรูปแบบวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการใช้รถ
ใช้ถนนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย โดยมีการวิจัยประเมินผล คอยกำกับตรวจสอบว่า สิ่งที่ออกแบบและ
ดำเนินการเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ ยังมีส่วนใดต้องปรับปรุง
ผู้เขียนเชื่อว่า เส้นทางแห่งการพัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้การขับขี่ปลอดภัยเป็นเส้นทางที่ไม่มีจุดจบ
กระนั้นก็ตามหากจะริเริ่มให้สง่างาม พึงตั้งมั่นอยู่กับการใช้ความรู้ที่รอบด้าน

โดย นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ผู้จัดการหน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย(จรป)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขับเกียร์อัตโนมัติแบบง่ายๆ ในยุคน้ำมันแพง

อย่างที่เขาบอกๆกันว่า “ขับรถเกียร์อัตโนมัติไม่ยาก แต่เหยียบคันเร่งเป็นอย่างเดียวใช้ได้”
ซึ่งจริงๆแล้ว การขับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัตินั้น ไม่ยากอะไรหรอก
แต่มันมีเทคนิค และวิธีการ ที่ทำให้การขับรถเกียร์อัตโนมัติได้ประหยัดน้ำมัน
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมก็ขอเริ่มแนะนำ วิธีการใช้เกียร์อัตโนมัติง่ายๆเลยละกัน




ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ เกียร์ ต้องอยู่ตำแหน่ง P หรือ N เสมอ
ทุกครั้ง ก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ สำหรับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติเป็นตัวส่งกำลัง
เกียร์ต้องอยู่ที่ตำแหน่ง P หรือ N เสมอ และต้องเหยียบแป้นเบรคไว้ด้วย จึงจะสตาร์ทเครื่องยนต์ได้




ทุกครั้งก่อนเข้าเกียร์ ต้องเหยียบเบรค
จำเอาไว้เลยนะครับ สำหรับคนที่ขับรถเกียร์อัตโนมัติ ในขณะที่ เครื่องยนต์ติดอยู่
ทุกครั้งก่อนจะเข้าเกียร์ หรือเลื่อนเปลี่ยนทุกตำแหน่ง ต้องเหยียบเบรคไว้เสมอ
เพื่อป้องกันรถเลื่อนไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ




เร่งแซงในที่ขับขัน กดคันเร่ง ให้สุด
หลายคนที่ขับรถเกียร์อัตโนมัติไม่ชำนาญ มักบอกว่าเวลาที่เร่งแซงเกียร์ไม่ยอมเปลี่ยนให้
นั่นแสดงว่า ระบบ Kick Down ยังไม่ทำงานครับ ฉะนั้น...ลองดูใหม่ครับ
ต่อไปนี้ ถ้าจะเร่งแซง ให้กดคันเร่งให้สุด ระบบของเกียร์จะสั่งให้ลดอัตราทดของเกียร์ลง
เพื่อเพิ่มกำลังในการเร่งแซง เมื่อแซงพ้นเรียบร้อย ก็ถอนคันเร่งได้ครับ
เกียร์ก็จะเลื่อนตำแหน่งมาอยู่ในอัตราทดที่เหมาะสม กับความเร็วรถ ขณะนั้นครับ




อยากประหยัดน้ำมันให้ “กด” แล้ว “ถอน” และ “กด” ซ้ำอีกครั้ง
หากต้องการขับแบบประหยัดน้ำมันมากๆ เกียร์อัตโนมัติก็ทำได้ครับ
ง่ายๆ ทุกครั้งที่เราออกรถ เท้าของท่านก็กดแช่ไว้ที่แป้นคันเร่ง อัตราทดเกียร์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
จากเกียร์ 1 ก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2 และเกียร์ 3 ตามลำดับ
แต่ถ้าเราต้องการให้ตำแหน่งเกียร์เลื่อนเปลี่ยนไวขึ้น เพื่อการเซฟน้ำมัน ก็ทำได้ไม่ยากครับ
แค่ถอนคันเร่งขึ้นเล็กน้อย และกดแป้นคันเร่งซ้ำไปอีกครั้ง
เท่านี้ตำแหน่งของเกียร์ก็จะเปลี่ยนไวขึ้นครับ เป็นการขับแบบเซฟน้ำมัน สามารถช่วยได้ในยุคน้ำมันเช่นนี้ครับ




ก่อนจะออกรถทุกครั้ง ต้องเหยียบเบรคไว้ก่อน
การออกรถทุกครั้ง ต้องเหยียบเบรคไว้ก่อนเสมอ เนื่องจากเมื่อท่านเลื่อนเกียร์จากตำแหน่ง N มาที่ ตำแหน่ง D
กำลังจากจากเครื่องยนต์ จะถูกถ่ายทอดไปสู่ชุดเกียร์แบบทันทีทันใด
หากท่านไม่เหยียบเบรคไว้ รถก็จะกระตุก และพุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ถ้าบังเอิญด้านหน้ารถท่านจอดชิด กับท้ายรถคันหน้ามากเกินไป ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้




ไม่ควรออกกระชากแรงๆบ่อยครั้งนัก
หลายคนที่ชอบขับรถสไตล์นักซิ่ง ชอบออกรถแบบกระชากให้ล้อ ได้ร้องเอี๊ยดอ๊าดกันแทบทุกครั้ง
แบบนี้ ถ้าใช้กับรถเกียร์อัตโนมัติบ่อยๆ จะทำให้ท่านต้องเสียเงินซ่อมเกียร์ไวขึ้น
เนื่องจากผ้าคลัตซ์ในชุดเกียร์ จะหมดไวกว่าปรกติ 2 - 3 เท่า
รวมถึง จะทำให้ชุดทอร์คคอนเวอร์เตอร์ พังไวกว่าปรกติด้วยนะครับ




ลากรถเกียร์อัตโนมัติใช้ความเร็วเกิน 60 กม./ชม.
ในกรณีที่ต้องลากรถ ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติส่งกำลัง และล้อที่ขับเคลื่อน ต้องสัมผัส กับพื้นถนนเวลาลาก
เช่น รถขับเคลื่อนล้อหน้าถูกชนท้าย ต้องลากรถทางด้านท้าย
และให้ล้อคู่หน้าซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อนสัมผัส กับพื้นถนน เวลาลากรถไป
แบบนี้ต้องให้เกียร์อยู่ในตำแหน่ง N ซะก่อน หลังจากนั้นค่อยลากรถไปด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
หากต้องลากรถ ติดต่อกันเป็นระยะทางไกลๆ ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 ชม. ทุกๆระยะทาง 70-80 กม.
เพื่อป้องกันไม่ให้เกียร์เสียหาย


ที่มา: http://www.carvariety.com









ข้อควรรู้ของสาวๆ ในการใช้รถหน้าฝน

สาว ๆ อย่างเราที่มีความรู้เกี่ยวกันรถน้อยมาก ยิ่งเข้าหน้าฝนสาวอย่างเรา จะต้องประสบปัญหาเรื่องรถยนต์ต่าง ๆ
ได้อ่านบทความเจอ เห็นเป็นประโยชน์ กับสุภาพสตรีทุกท่านเก็บมาฝากคะ

ข้อควรรู้ของสาวๆ ในการใช้รถหน้าฝน

1. ก่อนออกจากบ้าน ตรวจดูสภาพความพร้อมของที่ปัดน้ำฝน เป็นอันดับแรกว่าใช้ได้หรือเปล่า
สำคัญที่สุดนะคะเวลาฝนตก

2. ตรวจดูไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยวไฟกะพริบ ไฟถอยหลังว่าใช้การได้ดีทุกอย่างหรือเปล่า
ในกรณีฝนตกหนักไฟ เหล่านี้จะเป็นตัวส่งสัญญานให้เราทุกอย่าง

3. ตรวจดูแบตเตอรี่สม่ำเสมอ โดยการเติมน้ำกลั่นที่หม้อแบต จะมีปุ่มหลายปุ่มหมุนออกดู
ถ้าแห้งก็เติมได้คะ น้ำกลั่นหาซื้อได้ที่ ร้านจำหน่ายอะไหล่รถทั่วไป
เพราะในเวลากลางคืนพอฝนตกหนัก รถจะใช้กระแสไฟฟ้ามากแบตเตอรี่อาจจะอ่อนลง

4. ดูสภาพยางรถยนต์ทั้ง 4 เส้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานไม่อ่อนและแข็งเกินไป
สาว ๆ อาจจะขอพนักงานเติมลมให้ได้คะ เวลาไปเติมน้ำมันที่ปั๊ม ถ้าดูที่ดอกยางมันสึกไป แนะนำให้ไปร้านยาง
ถ้าไม่ดีควรเปลี่ยนใหม่ เพราะถนนจะลื่นและถ้ายางไม่ดี รถจะไม่เกาะถนน

5. ตรวจสอบเบรคด้วยการเหยียบย้ำ ๆ ดู ว่าเบรคสึกหรือตื้นไป
และให้เหยียบย้ำ ๆ มากขึ้นเมื่อพ้นสภาพถนนเปียก เป็นการไล่น้ำออกจากเบรคและให้เกิดความร้อน
และมีประสิทธิภาพในการใช้งานต่อไป

6. ควรขับรถอย่างระมัดระวัง ไม่เร็วเกินไปเนื่องจากเครื่องยนต์ เกิดจากความร้อนเมื่อถูกความเย็น
จะทำให้เกิดความร้อนขึ้น มีผลต่อกระแสไฟฟ้าและลัดวงจร เป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับได้

7. หากรถดับให้เปิดฝากระโปรง หาผ้าแห้ง (ควรมีติดรถ) ซับบริเวณเครื่องยนต์
ถ้ามีสารเคมี เพื่อฉีดพ่นเครื่องยนต์ ไล่ความชื้น ได้ด้วยก็จะดี (มีจำหน่ายตามร้านขายอะไหล่)

8. หากเกิดฝ้าบริเวณกระจกหน้า ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดเป็นระยะ ๆ เพื่อทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่

9. หากหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถนนมีน้ำท่วมขังไม่ได้ ให้ปิดเครื่องปรับอากาศชั่วคราวนะคะ
เพราะน้ำอาจจะเข้าไปที่พัดลมเครื่องปรับอากาศ ทำให้เสียได้
และพัดลมหม้อน้ำจะตีเอาน้ำที่เข้ารถเป็นละอองปกคลุมในห้องเครื่อง เป็นสาเหตุให้รถดับได้

10. หากฝนตกหนัก ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี ให้ขับรถออกข้างทาง และไม่ขวางทางการจราจร
รอจนกว่าฝนเบาลง เพื่อความปลอดภัยของเราและผู้อื่น ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย

เกียร์มีเสียงดัง


เสียงดังที่เกิดจากตัวเกียร์ จากประสบการณ์ก็แยกออกได้เป็นสามเสียง
เสียงแรก จะเกิดจากนอกห้องเกียร์ เป็นเสียงแตกเสียงคราง หรือเสียงหอน
เกิดจากชิ้นส่วนที่ช่างมักเรียกกันว่า ลูกปืนปลายเกียร์สี่ หรือ ลูกปืนฟลายวีล (Pivot bearing)
เป็นลูกปืนที่ฝังอยู่กับฟลายวีล โดยมีเพลาของปลายเกียร์สี่ (Input shaft) สอดแน่นอยู่ในนั้นตลอดเวลา
ลูกปืนจะหมุนตลอดเวลาที่เครื่องยนต์หมุน

ความร้อนที่เกิดขึ้น การเสียดสีของเหล็ก (ลูกปืน) กับ เสื้อลูกปืน ตลอดเวลา
ทำให้ลูกปืน และเสื้อสึกหรอ เกิดเสียงดัง นานเข้าก็จะได้ยินมาถึงห้องโดยสาร

วิธีการแก้ไขมีทางเดียว คือ เปลี่ยนลูกปืน อาการก็จะหายขาด
ส่วนวิธีป้องกันมีทางเดียว คือ ทุกครั้งที่ยกเกียร์ออกเปลี่ยนชุดผ้าคลัตช์ก็เปลี่ยนลูกปืนนี้ไปพร้อมกัน
เสียงดังจากลูกปืนปลายเกียร์สี่ก็จะไม่มีให้ได้ยิน

การรอให้ลูกปืนแตกชำรุดแล้วเปลี่ยนเฉพาะลูกปืน ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่าย
เพราะค่าแรงที่เปลี่ยนลูกปืนนี้ เท่ากับค่าแรงที่ยกคลัตช์ ถ้าทำไปพร้อมกันค่าแรงก็ เท่ากับที่ยกคลัตช์เท่านั้น


เสียงหอนจากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่ง
เสียงนี้เป็นเสียงที่แก้ไขได้ยากและต้องเสียเงินเสียทองกันมาก
เช่น เสียง เกียร์สามหอน ในขณะเร่งเครื่องลากเกียร์ เพื่อจะเปลี่ยนเป็นเกียร์สี่
อาการนี้มักจะเกิดจากการสึกหรอ ที่เรียกว่า เป็นตามดในลูกปืนของชุดเกียร์ทั้งราว
หรือเกิดจากการสึกหรอที่เฟืองเกียร์จนเป็นตามดของชุดเฟืองเกียร์สาม

ทางแก้มีวิธีเดียว คือ
การยกเกียร์ผ่าเกียร์ ออกมาตรวจดูการสึกหรอ (ตามด,ไหม้)ของลูกปืนเกียร์และเฟืองเกียร์
จะมีค่าใช้จ่ายสูงและยากที่จะแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นอกจากเปลี่ยนลูกปืนในห้องเกียร์ รวมทั้งเฟืองเกียร์ทั้งหมด
ทางเลือกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการหาเกียร์มือสอง จากเซียงกงมาเปลี่ยน

การป้องกันการสึกหรอในแบบนี้ก็คือ การหมั่นเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ (ตามหนังสือคู่มือ)
เลือกใช้น้ำมันเกียร์ในเกรดหรือชนิดที่ถูกต้องที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดเอาไว้
และเปลี่ยนพฤติกรรมการขับที่จะลากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่งนานๆ
พร้อมทั้งตรวจระดับน้ำมันเกียร์ และท่อหายใจของเสื้อเกียร์อย่างสม่ำเสมอ



เกียร์มีเสียงคราง หรือพูดกันทั่วไปว่าเกียร์ดัง
เสียงเกียร์ครางจะเกิดขึ้นจากการติดเครื่องเข้าเกียร์ว่างแล้วจะได้ยินเสียงเกียร์ดัง (เฟืองเกียร์สองเฟืองกระทบกัน)
และเสียงนี้จะหายไปเมื่อกดหรือเหยียบแป้นคลัตช์เพียงเบาๆ
ต้องมาเข้าใจกันก่อนว่า เมื่อเครื่องยนต์ติดเครื่องและอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างชุดคลัตช์ (ผ้าคลัตช์ หวีคลัตช์)
ที่เกาะอยู่กับฟลายวีลจะหมุนตามการหมุนของฟลายวีล (เครื่องยนต์) ตลอดเวลา(คลัตช์จับ)
พร้อมๆ กับเฟืองปลายเกียร์สี่ (Input shaft) ทีจะมีเฟืองตัวหนึ่งไปขบกับเฟืองชุดเพลารอง (Counter shaft)
ทำให้ชุดเฟืองของเพลารองหมุนตามเครื่องอยู่ตลอดเวลา การหมุนตามเครื่องของเฟืองเกียร์สี่และเพลารอง
ทำให้มีเฟืองตัวอื่นๆ หมุนตามด้วยแม้จะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง การขบกันของเฟืองแต่ละคู่
แม้จะเป็นเพียงการหมุนตามกันก็ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นได้ (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน)

ในระหว่างเฟืองสองเฟืองที่ขบกันอยู่นี้ จะมีช่องว่างที่เรียกว่า แบกแลช (Backlash) เป็นระยะเศษเสี้ยวของ
พันมิลลิเมตร เพื่อให้มีช่องทางที่น้ำมันเกียร์จะระบายความร้อนและหล่อลื่นเฟืองเกียร์นั้นๆ
เสียงครางจะดังมากดังน้อย ขึ้นอยู่กับความห่างระหว่างเฟืองทั้งสองตัวห่างมากก็ดังมาก ห่างน้อยก็ดังน้อย
และถ้าชิดเกินไปเฟืองก็จะไหม้

การพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะมองถึงระยะห่างของร่องเฟืองแล้ว
ยังต้องมองถึงระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟือง (End play) ที่อยู่ในแถวเดียวกันด้วย ในหลายๆ กรณีที่ระยะห่างของ
เฟืองต่อเฟือง ที่ขบกันจะมีระยะห่างที่พอดีหรือเหมาะสมตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดหรือออกแบบไว้แล้ว
แต่ระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟืองถ้าพลาดไปจากที่ถูกออกแบบไว้ (เศษของพันมิลลิเมตร)
ก็จะทำให้เฟืองเบียดกันส่งผลถึงการขบกันระหว่างที่ผิดไป เสียงดังก็จะเกิดขึ้นมีมากมาย

หลายคำถามที่บอกว่า แล้วชุดคลัตช์มาเกี่ยวด้วยอย่างไร
เพราะเมื่อแตะ กด เหยียบคลัตช์เพียงเบาๆ เสียงที่ได้ยินก็เงียบหายไป
คำตอบมีอยู่ว่า ทันทีที่เท้ากดไปบนแป้นคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์ในหัวหมูเกียร์จะวิ่งไปกดแผ่นกดคลัตช์
ทำให้ผ้าคลัตช์ถอยห่างจากฟลายวีล กำลังงานจากเครื่องยนต์ก็จะหยุดอยู่ที่ฟลายวีลเท่านั้น
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า คลัตช์จาก เมื่อคลัตช์จากเฟืองเกียร์สี่ไม่หมุน ชุดเพลารองไม่หมุนตาม
ทุกส่วนในห้องเกียร์หยุดการเคลื่อนไหว เสียงที่ได้ยิน (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน)
จึงไม่มี เกียร์ครางเมื่อเกียร์ว่าง เกิดขึ้นได้กับทั้งรถใหม่และรถเก่า
ถ้าเป็นรถเก่าเฟืองเกียร์สึกหรอ ระยะชิดของเฟืองในแถวจะห่างกัน แก้ไขโดยการเปลี่ยนเฟืองเกียร์หรือ
ปรับตั้งทั้งระยะห่างและระยะชิด รถใหม่ (ไม่ถึงหกหมื่นกิโลเมตร)
ผ่าเกียร์ตรวจสอบระยะห่างแบกแลชและระยะชิด (End play) แล้วปรับตั้งใหม่
หรือออกแบบเฟืองเกียร์ ปรับปรุงวัสดุ กันใหม่ แน่นอนครับที่ผู้ผลิต (รถใหม่) ยากที่จะยอมรับความจริงในข้อนี้

ที่มา คมชัดลึก




เกร็ดน่ารู้ เพื่อยืดอายุการใช้งานแอร์รถยนต์

1. ตรวจเช็คระบบปรับอากาศรถยนต์ของคุณทุกๆ 3-6 เดือนจากร้าน
หรือศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน

2. ควรหมั่นสังเกตระบบแอร์รถยนต์ของคุณด้วยตนเอง
หากแอร์ในรถของคุณความเย็นเริ่มลดลง ให้สันนิษฐานว่า อาจมีการรั่วของน้ำยาแอร์ หรือ
ท่อต่างๆในระบบอุดตัน ให้รีบนำรถของคุณเข้าตรวจเช็คโดยด่วน

3. ต้องแน่ใจว่ารถยนต์ของคุณใช้ระบบปรับอากาศระบบ R-12
หรือระบบ R-134a กันแน่ เพื่อป้องกันการผสมกันของน้ำยาแอร์

4. อย่าผสมน้ำยาแอร์ระบบ R-12 และ R-134a เข้าด้วยกัน
เพราะจะทำให้ระบบแอร์รถยนต์ของคุณเสียหายได้

5. น้ำมันคอมเพรสเซอร์ของระบบ R-12 และ R-134a ไม่สามารถใช้แทนกันได้

6. หากคุณไม่แน่ใจว่ารถยนต์ของคุณใช้ระบบ R-12 หรือ R-134a ให้เปิดตรวจเช็คจาก
ห้องเครื่องที่กระโปรงรถของคุณ โดยดูที่หัวเติมน้ำยาแอร์ ถ้าเป็นระบบ R-12 หัวเติมจะเป็น
แบบเกลียว แต่ถ้าเป็นระบ R-134a หัวเติมจะเป็นแบบตัวล๊อค

7. จำไว้ว่ารถยนต์ที่ผลิตก่อนปี พ.ศ.2538 ใช้กับแอร์ระบบ R-12 เท่านั้น
ส่วนรถยนต์ที่ผลิตหลังปี พ.ศ.2538 เป็นต้นไปจะใช้ระบบแอร์ R-134a
(ยกเว้นรถกระบะต้องผลิตหลังปี พ.ศ.2539)

8. การรั่วซึมในระบบแอร์รถยนต์ อาจเกิดจากการหมดอายุการใช้งานของอะไหล่ได้

9. หากคุณต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยติดๆกันในเวลา 3 เดือน
อาจเกิดการรั่วในระบบแอร์ของคุณเข้าแล้ว

10. ระมัดระวังอย่าใช้น้ำยาแอร์ที่ติดไฟได้

11. การถ่ายเทอากาศ การสูบบุหรี่ในรถ ขณะเปิดแอร์ จะทำให้อากาศภายในรถไม่บริสุทธิ์
จึงควรเปิดช่องระบายอากาศเพื่อไล่ควันบุหรี่ออกไป และเมื่อใช้แอร์เป็นระยะเวลานานๆ
การเปิดช่องระบายอากาศเป็นระยะ จะทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้น

12. เมื่อไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานานหลายวัน
ควรติดเครื่องยนต์แล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที
เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำยาแอร์ที่ซีลคอมเพรสเซอร์

13. ควรจอดรถยนต์ในที่ร่ม การจอกรถกลางแดดนาน จพทำให้ภายในรถร้อนอบอ้าว
ต้องใช้เวลานานกว่าจะเย็นลงได้ ในกรณีนี้ควรเปิดประตูหรือกระจกไว้สักครู่
ก่อนจะขับรถออกจากที่จอดรถ

14. ควรปิดช่องระบายอากาศและกระจกให้มิดชิด ขณะใช้เครื่องปรับอากาศ
เพื่อป้องกันมิให้ลมร้อนภายนอกไหลเข้ามาภายในตัวรถ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเย็นลดลงได้

15. ในการขับรถขึ้นเขา เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้น ควรปิดเครื่องปรับอากาศเป็นครั้งคราว
เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์และป้องกันเครื่องยนต์ร้อนเร็วขึ้นด้วย

16. ควรทำความสะอาดแผงระบายความร้อนที่อยู่หน้าหม้อน้ำ โดยใช้ลมเป่าหรือใช้น้ำฉีด
แล้วใช้แปรงขนอ่อนๆ แปรงสิ่งสกปรกที่อยู่ตามครีบออกให้สะอาด เพียงเท่านี้
ก็จะช่วยยึดอายุการใ้งานแอร์รถยนต์ของท่านให้ยาวนาน และยังทำให้แอร์เย็นขึ้นอีกด้วย

เอกสารเผยแพร่
หน่วยอนุรักษ์โอโซน สำนักงานควบคุมวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม

เกร็ดควรรู้ในการดูแลรถให้ดูใหม่เสมอ


คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจซื้อรถด้วยเหตุผลของราคา ประโยชน์ใช้สอยและอัตราการกินน้ำมันของเครื่องยนต์
น้อยคนที่จะนึกถึงการบำรุงรักษาเครื่องยนต์หลังจากได้เป็นเจ้าของรถแล้ว
ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้าของรถควรทราบและคำนึงถึง วันนี้จึงมีข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าของรถ
เพื่อยืดอายุการใช้งานพาหนะคู่ใจ และการบำรุงรักษาให้เหมือนใหม่เสมอ ดังนี้

ปฏิบัติตามคู่มือการใช้รถยนต์ที่ให้มาตอนซื้อรถ
ถ้ามีตารางการซ่อมบำรุงก็ใช้เป็นแนวทางในการตรวจเช็ครถ
แต่ควรตรวจเช็คในคู่มืออีกทีว่าถึงเวลาเปลี่ยนอะไหล่เมื่อไหร่

อย่าลืมเปลี่ยนสายพานเมื่อรถวิ่งได้ทุกๆ 60,000 – 90,000 ไมล์
การเปลี่ยนสายพานราคาอาจจะสูงสักหน่อย แต่ก็ถูกกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหากสายพานขาด

หยอดกระปุกไว้สำหรับการซ่อมบำรุงรถ
เพราะในแต่ละปีคุณควรจะมีงบในการบำรุงรักษารถ 5,000 – 20,000 บาท แล้วแต่อายุการใช้งาน
ถ้ามีการสะสมงบเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับรถ ก็จะไม่กระทบกับการเงินของคุณ

หาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นที่คุณใช้
รถทุกรุ่นมักจะมีเว็บไซต์ของตัวเอง บอกข้อมูล และปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเวลาใช้งาน
คุณจะได้มีความพร้อมที่รับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถของคุณ

เวลาขับขี่คอยสังเกตว่ามีเสียง หรือกลิ่นที่ผิดไปจากปกติเกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ามีควรปรึกษาช่างเพื่อหาสาเหตุ ผู้ใช้รถเป็นประจำเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ

เมื่อเกิดความเสียหายกับรถให้ซ่อมทันที แม้ว่าจะเป็นความเสียหายเล็กน้อย
อาทิ เบาะที่นั่งขาด หรือสายไฟหลุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น หรือสร้างความรำคาญให้กับคุณเอง

ใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพ
หากมีงบประมาณจำกัดไม่สามารถซื้ออะไหล่แท้ควรปรึกษาช่างเพื่อหาทางเลือก
การซื้ออะไหล่แท้มือสองก็เป็นอีกทางที่จะได้ของคุณภาพในราคาย่อมเยา

ทำความสะอาดรถอย่างสม่ำเสมอ
สีรถนอกจากจะช่วยให้รถดูดี ยังเป็นการปกป้องวัสดุข้างในด้วย
ควรล้างรถเป็นประจำ ถ้าน้ำเริ่มไม่เกาะเป็นหยดๆ บนสีรถ ให้ลงแว็กเคลือบสี

ควรขับรถอย่างนิ่มนวล แม้ว่าการขับรถด้วยความเร็วสูงบ้างในบางครั้ง
จะช่วยให้เครื่องยนต์มีความคล่องตัว แต่ไม่ควรเหยียบคันเร่งจนมิด หรือขับรถโดยใช้ความเร็วสูงตลอด
เพราะไม่เป็นผลดีต่อเครื่องยนต์

เท่านี้คุณก็ยิ้มได้อย่างภูมิใจเมื่อมีคนพูดอย่างชื่นชมว่ารถคุณยังดูใหม่แม้ว่าจะวิ่งได้ 150,000 ไมล์ แล้ว








กำจัดเสียงกวน ในระบบเสียงรถยนต์

นอกจากเสียงรกๆ หูดังที่เคยพูดถึงแล้ว ยังมีเสียงรบกวนจากระบบมาให้คุณได้ปวดหัวอีก
ถ้าไม่รู้วิธีกำจัดเราก็จะต้องทนกับชุดที่เสียงอัปลักษณ์ไปอีกนานแสนนาน

เสียงรบกวนที่มีในระบบเครื่องเสียงรถยนต์นั้น มีมากกว่าที่คิด จะยกตัวอย่างประสบการณ์มา
เล่าสู่กันฟัง เช่น เวลาเจอเสียงฮัมในระบบเครื่องเสียงรถยนต์ ต้องมาไล่เรียงว่าเกิดอะไรขึ้น
เสียงฮัมที่ว่านั้น เกิดขึ้นหลังจากติดตั้งชุดเครื่องเสียงมาแล้วร่วมปี การติดตั้งร้านก็ทำมาดี
ประณีตและไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นจุดอ่อน จนกระทั่งหลังสุดรถไปตกหลุมรุนแรง ก็เลยต้องมี
การซ่อมแซมปรับเปลี่ยนช่วงล่างกันใหม่ สิ่งที่ได้หลังจากซ่อมรถคือ เสียงรบกวนในระบบเสียง
ตามมาด้วย มันน่ารำคาญมากทีเดียว ซึ่งเสียงฮัมนั้นมาเป็นจังหวะบ้าง มาไม่เป็นจังหวะบ้าง
บางครั้งทำท่าเหมือนหายไป แล้วจู่ๆ ก็มาทักทายอีก

การรื้อภาคหน้าหรือเฮดยูนิตออกมาดู น่าจะเป็นลำดับสุดท้ายที่เราควรทำ เพราะมันเต็มไปด้วย
เส้นสายไฟ สายสัญญาณ ที่ยุ่งเหยิง เสียเวลามาก มาลองดูกันในจุดง่ายๆ ก่อน
นั่นก็คือการต่อเชื่อมสัญญาณจากฟร้อนท์เอ็นด์มายังเพาเวอร์แอมป์ โชคดีมากที่เราพบว่า
สายเชื่อมต่อที่เป็นอาร์ซีเอ สองเส้นซ้ายขวา เส้นข้างขวานั้น มีอาการขาดใน
คือช่างเขาเชื่อมหรือบัดกรีเอาไว้ระหว่างสาย กับหัวแจ็ค แต่เมื่อนานไปเข้า เกิดการผุกร่อน
และเจอแรงกระแทกแรงๆ มันก็หลุดขาด แต่ยังมีส่วนที่ต่ออยู่กับแกนนั้น
ตัวนำสายชนหัวแจ็คอยู่แบบปริ่มๆ อาการเสียงฮัมบ้าง ดังบ้างแบบไม่ปะติดปะต่อจึงบังเกิดขึ้น
เอาออกมาบัดกรีเชื่อมเข้าไปใหม่ อาการหายเป็นปลิดทิ้ง
หากเป็นปัญหาที่อื่นแล้วล่ะก็ เห็นทีจะยุ่งยากกว่านี้อีกหลายเท่าล่ะครับ

เพราะบางคนโชคไม่ดี สายที่ต่อภายในเครื่องหลุด หลวม หรือเป็นที่แผ่นปริ๊นท์ที่บกพร่อง
ทำให้เกิดเสียงฮัมขึ้นมาอย่างรุนแรง แล้วก็หาสาเหตุได้ยาก
ต้องตรวจสอบกันอย่างจริงจังด้วยเครื่องมือเท่านั้น

เสียงกระตุกเป็นจังหวะจากไฟรั่ว ตรงนี้น่ากลัวกว่า

การต่อระบบเครื่องเสียงรถยนต์ที่ไม่รอบคอบ ประกอบกับรถเก่าที่ระบบไฟเริ่มรวนแล้ว
การพ่วงต่อจุดกำเนิดไฟไม่ถูกต้อง การเสริมอุปกรณ์ที่ไม่แมทช์ หรือระบบวงจรเครื่องบางอย่าง
ที่มีปัญหาถูกเสริมลงไปในซิสเต็ม ทำให้ระบบไฟทะลักเข้าไปในเครื่อง ดังพลั่กๆ
ดังนั้นช่างติดตั้งต้องแก้ปัญหาได้ มิฉะนั้นเราลำบากแน่เพราะไม่สามารถทำเองได้

ผมเคยเจอกับการต่อปรีแอมป์เสริมเข้าไปในระบบเดิมๆ เจ้าของชุดกะว่าจะแต่งเสียงให้มันเลิศ
ขึ้นไปอีกสักหน่อย กลับต้องผิดหวังเพราะวงจรของเครื่องปรีแอมป์ทำพิษเสียเอง
คือไม่สามารถคุมไฟ ปรับระดับไฟให้เรียบได้ อันเนื่องมาแต่ความเสื่อมของตัวอุปกรณ์ หรือ
วงจรที่ไม่สมบูรณ์ เสียงพลึ่กพลั่กดังออกลำโพงอย่างน่ากลัว มันรบกวนตลอด ไม่ว่าจะเปิด
เสียงดัง หรือเบาสักแค่ไหน แสดงว่าย่อมไม่เกี่ยวกับโวลุ่มอยู่ดี เมื่อปลดเอาปรีแอมป์ออกไป
เสียงก็เรียบสนิทเหมือนเดิม

ดังนั้น อะไรที่เสริมเข้าไปจากชุดที่มีอยู่ต้องระมัดระวัง เลือกสินค้าที่ดีจริงๆ ไม่ใช่ของโนเนม
การออกแบบต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งอินพุต เอาท์พุต เสียงแตกๆจากลำโพงข้างขวา
เสียงลำโพงขวามันดังแกร็กๆ ตามจังหวะกระแทกกระทั้นของเสียงดนตรี
ทีนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้วุ่น ลำโพงตัวข้างขวา วอยซ์เบียด นี่คือจำเลยแรกที่เรามักจะคิดกัน
แต่พอทดลองย้ายลำโพงซ้ายมาไว้ด้านขวาก็เกิดอาการยังอยู่ที่ข้างขวาอีก
เอาล่ะทีนี้เราก็ต้องโทษวิทยุติดรถยนต์ หรือฟร้อนเอ็นด์ มันเป็นอะไรขึ้นมาของมัน???

แต่ความคิดที่ช่างผู้ชำนาญคิดไปอีกทางตามประสบการณ์ เขาสงสัยแผงหลังที่ทำขึ้นมาสำหรับ
ยึดลำโพง จึงทำการถอดแผงออกมาใหม่ปรับลดขนาดไม่ให้มันชิดตัวถังรถจนเกินไป

น่าประทับใจครับ หลังจากวางแผงไม้ลงไปใหม่ ก็จัดการขันสกรูทีละน้อยให้บาลานซ์กันทุกจุด
คือจะไม่ขันสกรูให้ฟิตแน่นที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วไล่เรียงกันไปยังจุดอื่นๆ ให้แผ่นไม้ได้รับการ
ยึดติดไปพร้อมๆ กันทุกมุม เสียงรบกวนหายไปได้อย่างหมดจด เทคนิคตรงนี้ดูธรรมดา
แต่มักจะถูกละเลยจากช่างติดตั้ง “กามนิตหนุ่มรุ่นใหม่ๆ” ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา

ดังนั้นปัญหาเสียงรบกวนเบื้องต้นจะไม่มีถ้าติดตั้งกันอย่างประณีตและรอบคอบครับ

บทความโดย วิจิตร บุญชู
ที่มา คมชัดลึก

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ

ปัจจุบันเห็นมีการโฆษณากันมาก เรื่องเครื่องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
บอกว่าดีกว่าการเปลี่ยนถ่ายในศูนย์บริการทั่วไป เพราะถ่ายได้หมดจดกว่ากัน แต่ราคามันแพง
จึงอยากถามถึงความจำเป็นในการถ่ายน้ำมัน เกียร์อัตโนมัติ และหากจำเป็นควรใช้วิธีไหน

เรื่องการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัตินั้น ผมขอเรียนให้ทราบก่อนว่า
ระยะเวลาที่สมควรทำการเปลี่ยนถ่ายแต่ละครั้ง ก็คือ ประมาณ 25,000 ถึง 35,000 กิโลเมตร
แล้วแต่สภาพการใช้งาน และสภาพทางที่วิ่ง เช่น
ใช้งานในเมืองที่การจราจรติดขัดมากๆ เกียร์มีการเปลี่ยนไปมาบ่อยๆ และมีความร้อนในน้ำมันเกียร์มาก
ก็ควรเปลี่ยนถ่ายที่ระยะทาง 25,000 กิโลเมตร

หรือหากต้องวิ่งผ่านทางที่เป็นฝุ่นมากๆ หรือผ่านทางที่น้ำท่วมขัง
ก็ควรเปลี่ยนถ่ายที่ระยะทางไม่เกิน 25,000 กิโลเมตร

เช่นเดียวกัน แต่หากผ่านทางที่น้ำท่วมขังเกินกว่าครึ่งล้อ
ก็ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติทันทีที่ผ่านทางน้ำท่วมนั้นมาแล้ว

แต่หากคุณใช้รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ในพื้นที่ซึ่งรถไม่ติด การจราจรปลอดโปร่ง
เช่น ใช้ในจังหวัด ที่มีอากาศเย็น อย่างลำพูน หรือแพร่
คุณก็สามารถยืดระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติไปได้ถึง 35,000 กิโลเมตร

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นหากคุณเป็นคนใช้รถยนต์น้อย ผมแนะนำว่า
ไม่ควรเกินสองปี ก็ควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์อัตโนมัติแล้วครับ

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัตินั้น ต้องให้ช่างตามศูนย์บริการรถยนต์นั้นๆ
หรือช่างในศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่มีความรู้เรื่องเกียร์อัตโนมัติเป็นผู้ทำการให้

โดยปกติแล้วเมื่อถอดนอตที่ก้นแคร้ง เพื่อทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติออกมา
น้ำมันเกียร์อัตโนมัติจะไหลออกมาประมาณครึ่งหนึ่งหรือไม่เกิน 2ใน 3 ของน้ำมันเกียร์อัตโนมัติทั้งหมดในระบบ

ดังนั้นหากเห็นว่าน้ำมันเก่าที่ไหลออกมา มีความสกปรกปะปนอยู่มาก ก็ให้นำรถไปวิ่งใช้งานสักพักหนึ่ง
แล้วนำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่น้ำมันเกียร์ยังอุ่นๆ อยู่
และหากรถยนต์รุ่นนั้นๆ มีกรองน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ แบบที่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้
ก็ให้ถอดกรองออกมาล้างทำความสะอาดด้วยทุกครั้ง หรือถ้าเป็นแบบล้างไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนกรองทุกครั้ง

ในคนที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์อยู่บ้าง สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์อัตโนมัติด้วยตนเองให้สะอาดได้ไม่ยากนัก
ด้วยวิธีการที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้คือ หาตำแหน่งที่ติดตั้งระบบระบายความร้อนน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
หรือที่เรียกกันว่า ออยล์คูลเลอร์เกียร์อัตโนมัติ

จากนั้นก็ดูว่าสายยางเส้นไหน เป็นเส้นที่ส่งน้ำมันเข้าออยล์คูลเลอร์ เส้นไหนเป็นเส้นที่ส่งน้ำมันออกจาก
ออยล์คูลเลอร์ เมื่อพบแล้วให้ถอดสายยางส่วนที่ออกจากออยล์คูลเลอร์ของน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
แล้วติดเครื่องยนต์ขึ้นมา ไม่ต้องเร่งเครื่อง คอยดูว่าน้ำมันเกียร์อัตโนมัติไหลออกมาจากสายยางดังกล่าวจนหมด
เริ่มเห็นฟองอากาศ ก็ให้ดับ เครื่องยนต์แล้ว สวมสายยางกลับไปอย่างเดิมให้แน่นหนา
จากนั้นก็เติมน้ำมันเกียร์อัตโนมัติเข้าไปตามปริมาณ หากเห็นว่าน้ำมันเกียร์ อัตโนมัติไม่ค่อยไหลออกมา
ให้ดึงเบรกมือรถเอาไว้ให้แน่น เหยียบเบรคให้สนิท แล้วโยกคันเกียร์ไปมา ระหว่างตำแหน่ง N ไป D
สลับไปมาเบาๆ จนเห็นน้ำมันเกียร์ไหลออกมาหมด เมื่อเติมน้ำมันเกียร์อัตโนมัติเข้าไปแล้ว
ให้นำรถออกไปวิ่งใกล้ๆ อย่างนุ่มนวล แล้วกลับมาวัดระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติใหม่อีกครั้งหนึ่ง
หากเห็นว่าระดับน้ำมัน เกียร์ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ก็เติมลงไปให้ถูกต้อง เท่านี้ก็เสร็จเรื่องครับ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

การเติมลมยาง



การเติมลมยางถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการดูแลรักษายางรถยนต์
ถ้าขาดการดูแลที่ดี จะเกิดผลเสียดังนี้

เติมลมน้อยเกินไป
ยางจะบวมล่อนได้ง่าย อายุการใช้งานลดลง ดอกยางสึกผิดปกติ
อาจจะสึกที่ขอบยางข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง สึกที่ไหล่ยางหรือสึกที่ปลายดอก
มีความฝึดที่ผิวสัมผัสมาก ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกว่าปกติ


เติมสูบลมมากเกินไป
เมื่อได้รับแรงกระแทกจะระเบิดได้ง่าย อายุการใช้งานลดลง ดอกยางโดยเฉพาะกลางหน้ายาง
จะสึกมาก ถ่ายเทการสั่นสะเทือนหรือการกระแทกขึ้นสู่ตัวรถได้มาก ขาดความนุ่มนวล


การเติมลมของยางล้อคู่
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเติมลม และรักษาระดับแรงดันลมในล้อคู่ให้เท่ากันตลอดเวลา
ไม่เช่นนั้นยางเส้นที่มีแรงดันมากจะรับน้ำหนักมาก ชำรุดเสียหายง่าย สึกหรอผิดปกติ
เส้นที่เติมลมน้อยจะรับน้ำหนักน้อย การสึกของยางจะไม่เรียบเสมอกัน หรือสึกอย่างผิดปกติ

- ไม่ควรปรับความดันลมยางในขณะยางร้อน เนื่องจากความร้อนทำให้อากาศขยายตัว
- ยางเรเดียลเส้นลวดต้องเติมลมมากกว่ายางผ้าใบธรรมดา

ความแตกต่างของแรงดันลมเพียง 1 ก.ก./ซ.ม.2 หรือ 14 ปอนด์/ตร.นิ้ว
จะรับน้ำหนักต่างกันถึง 400 ก.ก. ถ้าแรงดันลมต่างกัน 2 ก.ก./ซ.ม.2
หรือ 28 ปอนด์/ตร.นิ้ว จะรับน้ำหนักต่างกันถึง 800 ก.ก.
ในกรณีแรงดันลมต่างกัน 2 ก.ก./ซ.ม.2 หรือ 28 ปอนด์/ตร.นิ้ว ยางเส้นที่เติมลมมาก
จะมีอายุใช้งานเพียง 70% เส้นที่ลมยางอ่อนจะมีอายุการใช้งานเหลือเพียง 45%
การเติมลมให้เท่ากันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น จึงควรเติมลมให้พอดี ตามเกณฑ์ที่โรงงานกำหนดหรือพิจารณาให้สอดคล้องกับ
สภาพการใช้งาน นอกจากต้องเติมลมให้ถูกต้องแล้วจะต้องมีการตั้งศูนย์ล้อ ตั้งมุมของล้อหน้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานของรถยี่ห้อนั้นๆ อีกด้วย

การตรวจเช็คลมยาง
ควรตรวจเช็คในขณะที่ยางยังเย็นอยู่ และเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องควรเติมลมยางให้ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทรถกำหนด

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเก็บยางไว้นานๆ
ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ยางสัมผัสกับความร้อน แสงแดด ลม ฝน ความชื้น น้ำมัน
และสารเคมีต่างๆ หากสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ อายุการใช้งานของยางก็จะยาวนานขึ้น

ที่มา : http://www.bridgestone.co.th



การดูแลรักษาสีรถให้สวยสดใส



โดยธรรมชาติของสารเคมีที่นำมาประกอบเป็นสีนั้นจะสามารถต้านทาน
และคงทนต่อสภาพแวดล้อมหรือความผันแปรของภูมิอากาศได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น
หากการบำรุงไม่ดีพอหรือไม่ถูกวิธีแต่จะทำให้รถเสียเร็วยิ่งขี้น

ข้อควรระวังเพื่อการรักษาสีรถ มีดังนี้

1.ไม่ควรจอดรถไว้ใกล้ๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมา
เช่น โรงงานผลิต อาหารสัตว์ โรงงานผลิตสารเคมีเพราะฝุ่นละอองจากอาหารสัตว์
หรือสารเคมีที่ปลิวมาติดผิวสีของ รถอาจจะเป็นกรดหรือด่างเข้มข้นสามารถกัดสีให้เป็น
จุดเป็นดวงได้หรือทำให้สีอ่อนตัวลงได้

2.ควรพยายามจอดรถในที่ร่มหรือที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก พื้นไม่อับชื้น
หากจำเป็นต้องจอดกลางแดด ควรใช้ผ้าคลุมกันแดดไว้

3.เมื่อขับรถผ่านบริเวณที่มีฝุ่น โคลนหรือชายทะเลเป็นเวลานานๆ ควรล้างฝุ่น โคลนหรือ
คราบต่างๆ ออกให้หมดเพราะคราบเหล่านี้ สามารถดูดความชื้นได้ดี จึงทำให้ฝิวสีเสื่อม
คุณภาพได้ง่ายและบางครั้งสิ่งสกปรกที่เกาะติดผิวสีรถก็เป็นสารเคมีที่ทำอันตรายต่อสีรถด้วย

4.อย่าทำให้รถเกิดรอยขีดข่วนหรือหลุดร่อนเพราะจะทำให้ตัวรถผุและจะลามออกเป็น
บริเวณกว้าง ทั้งนี้ เพราะรอยขีดข่วนจะไม่สามารถป้องกันความชื้นให้กับผิวโลหะได้

5.หากมีคราบน้ำมันหรือสารเคมีต่างๆ เปื้อนผิวสี ต้องรีบล้างออกทันที
โดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดหรือผสมสบู่อ่อนๆ หรือ แชมพูสำหรับล้างรถก็ได้ ห้ามใช้ทินเนอร์
น้ำมันหรือสารเคมีใดๆ ทำความสะอาดสีรถโดยเด็ดขาด
สารเคมีที่มีโอกาสจะถูกสีรถได้ง่ายก็คือ น้ำมันเบรกซึ่งจะกัดสีในทันทีที่สัมผัสกับสีรถ
การใช้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
นอกจากนี้น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และน้ำหอมประจำรถก็ฒีผลต่อสีรถเช่นกัน
หากหกเลอะรถควรรีบใช้ผ้านุ่มที่สะอาดเช็ดออกโดยเร็วและล้างด้วยน้ำ


ลบคราบสติ๊กเกอร์บนสีรถ
รอยคราบที่เกิดจากการแกะสติ๊กเกอร์ที่อยู่บนผิวสีรถออกนั้น สามารถแก้ไขได้
โดยใช้ยาขัด Extra100 แล้ว ลงแว๊กซ์อ่อนอีกครั้ง
ถ้าสีบริเวณที่ลอกสติ๊กเกอร์ออกนั้นแตกต่างกับผิวสีเดิมมาก
ให้ใช้กระดาษทรายเบอร์ 1200 ขัดบนพื้นผิวบริเวณนั้นก่อนแล้วลงแว๊กซ์อีกครั้ง
แต่หากไม่แน่ใจที่จะลงมือแก้ไขเอง ควรนำรถเข้า ศูนย์บริการ ให้ช่างผู้ชำนาญทำ


แก้ปัญหารถสีด้าน
รถสีด้านเกิดจากการนำรถตากแดดไว้บ่อยๆ หรือใช้งานรถมาเป็นเวลานานโดยขาดการ
ดูแลรักษา วิธีดีที่สุดสำหรับการแก้ไขสีรถด้านคือ เจ้าของควรจะนำรถเข้าทำสีใหม่
เพื่อให้สีมีความ คงทน แต่ถ้าไม่ต้องการทำสีใหม่ให้ใช้แว๊กซ์ ขัดพื้นผิวบริเวณนั้น
โดยต้องเลือกใช้แว๊กซ์ให้ถูกกับประเภทงาน
การใช้แว๊กซ์ขัดจะช่วยได้เพียงแค่การชลอการเสื่อมสภาพของสีเท่านั้น ไม่สามารถทำให
้ผิวสีกลับสู่สภาพเดิมได้ นอกจากนี้การล้างรถก็มีส่วนทำให้รถด้านด้วยเช่นกัน
จึงไม่ควรล้างรถ ในช่วงที่เพิ่งใช้งานเสร็จหรือขณะที่พื้นผิวของรถยังร้อนอยู่ เด็ดขาด


สีที่ซ่อมใหม่กับสีเดิมไม่เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้วงานซ่อมสีโดยเฉพาะสีเมทัลลิก (สีที่มีสีบรอนช์ผสม)
การซ่อมสีใหม่ให้เหมือนเดิม 100% เป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น
ความซีดของสีเดิม แรงดันลมขณะพ่นสี อุณหภูมิของอากาศ
ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการแห้งตัวของสีและขนาดของหัวปืนพ่นสี เป็นต้น ฉะนั้นหาก
ซ่อมสีใหม่แล้ว สีที่ได้กลมเกลือนหรือใกล้เคียงกับสีเดิมถึง 95% โดยที่มีเวลาผ่านไป
สีที่พ่นใหม่ไม่ต่างจากสีเดิมมากนัก ก็นับว่าเป็นงานซ่อมสีที่ดีเยี่ยมแล้ว
แต่ถ้าสีที่ซ่อมใหม่ แตกต่างจากสีเดิมมากจนเห็นได้ชัดก็แสดงว่าการผสมสีและ
การพ่นของช่างซ่อมสี ยังไม่ประณีตเท่าที่ควร ซึ่งควรจะนำเข้าแก้ไขสีใหม่อีกครั้ง


ข้อสำคัญรถต้องสะอาดอยู่เสมอ
การทำความสะอาดรถเป็นเรื่องที่เจ้าของรถควรให้ความเอาใจใส่เป็นประจำ
เพราะจะเป็นผลดีต่อสีรถด้วย
วิธีทำความสะอาดความเริ่มจากการใช้ไม้ขนไก่หรือถ้าผ้าแห้งนุ่มๆ
ปัดหรือเช็ดฝุ่นออกเบาๆ และผ้าที่ใช้จะต้องไม่มีความหยาบหรือมีของแข็งใดๆติดอยู่
หากปัดหรือเช็ดแล้วยังไม่สะอาดพอให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออก
ไม่ควรใช้ผ้าแห้งเช็ดอย่างรุนแรง เพราะอาจเกิดรอยขีดข่วนบนรถ
การล้างต้องใช้น้ำสะอาดและจะต้องล้างให้สะอาดด้วย หากสามารถทำได้ควรฉีดน้ำล้างดิน
โคลน หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ใต้ท้องรถให้สะอาดทุกส่วนด้วย โดยปฏิบัติดังนี้

ควรล้างบริเวณใต้ท้องรถและล้อก่อนโดยใช้แปรงอ่อนๆ ขัดขณะฉีดน้ำล้าง
หรือจะใช้น้ำผสม สบู่ล้างครั้งหนึ่งก่อนแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง

ล้างจากส่วนบนสุดของรถลงมา ไม่ควรใช้แปรงขัดเป็นอันขาด
ให้ใช้ผ้านุ่มๆ ฟองน้ำหรือ หนังชามัวส์เท่านั้น เพราะอาจทำให้สีถลอกได้

คราบสกปรกที่น้ำธรรมดาล้างไม่ออก ให้ใช้น้ำสบู่ล้างไม่ควรใช้ผงซักฟอกล้างรถ
เมื่อคราบสกปรก ออกหมดแล้ว ให้ใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำอีกครั้ง

หลังจากล้างน้ำแล้ว ต้องเช็ดให้แห้งทันที
การปล่อยให้น้ำแห้งเองจะเกิดเป็นคราบน้ำเป็นดวงๆ ติดอยู่บนรถตลอดทั้งคัน

เมื่อล้างรถจนสะอาดดีแล้วอาจจะใช้สารเคมีเคลือบสีพวกครีมขี้ผึ้งขัดให้แลด้วยเงางาม

ข้อมูลจาก : http://bangkokhonda.com/05/old00007.htm



การดูแลรักษาระบบเบรค


หน้าที่ของเบรกคือการหยุดรถหรือทำให้การเคบื่อนไหวของรถช้าลงตามความต้องการ
ตลอดเวลาขับขี่ ฉะนั้นเบรกจึงต้องทำการหยุดรถได้แน่นอนและรวดเร็วตลอดเวลา
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุทางทรัพย์สินและชีวิต

เบรกในปัจจุบันนี้นิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภท

1. ดรัมเบรก 

เป็นระบบเบรกรุ่นเก่าที่ยังมีใช้อยู่ในรถเก๋งบางรุ่น
ในส่วนของดรัมเบรกจะมีลักษณะเป็นแผ่นเบรกสองแผ่นดันบริเวณกระทะเบรกเพิ่ม
ความเสียดทาน เพื่อช่วยในการหยุดรถ หรือชะลอรถ
การใช้ดรัมเบรกจะใช้ครบทั้ง 4 ล้อในตอนแรก
และล้อมั้ง 4 ล้อในวงจรเบรกจะทำงานอย่างสัมพันธ์กัน

2. ดิสก์เบรก
เป็นระบบเบรกที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน อาจจะเป็นระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ หรือ
เบรก 2 ล้อหน้าเป็นดิสก์เบรก 2 ล้อหลังเป็นดรัมเบรก
ระบบการทำงานของดิสก์เบรกจะแยกทำงานกันคนละส่วนเป็นอิสระต่อกัน
ระบบนี้เป็นระบบในรถรุ่นใหม่ รถรุ่นเก่ายังคงเป็นระบบที่ทำงานร่วมกัน

หลักใหญ่ที่จะทำให้เบรกมีประสิทธิภาพคือ
น้ำมันเบรกเป็นส่วนสำคัญนับจากชิ้นส่วนอื่นๆที่ใช้ร่วมกัน
ในระบบเบรกระดับของน้ำมันเบรกจะมีส่วนคล้ายกับระบบของน้ำมันเครื่อง
คือต้องพยายามคอยดูแลไม่ให้ลดลงกว่าระดับมาตรฐานที่วางไว้ ต้องคอยเช็กอยู่เสมอ
น้ำมันเบรกนี้จะมีขายอยู่ตามปั้มน้ำมันทั่วไป คุณภาพในแต่ละยีห้อนั้นใกล้เคียงกัน
อยู่ที่ว่าต้องการยี่ห้อไหนหรืออาจใช้ตามมาตรฐานของคู่มือรถที่ให้มา นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด


การตรวจสอบและเติมน้ำมันเบรก
น้ำมันเบรกเป็นส่วนประกอบสำคัญอันหนึ่งในการเบรก ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบให้อยู่ในระดับ
ที่พอดีเสมอ หากปล่อยให้น้ำมันเบรกแห้งหรือรั่วไหลออกไปจนหมดหรือ
เหลือน้อยการเบรกอาจไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


ขั้นตอนการเติมน้ำมันเบรก
1. เปิดฝากระโปรงรถยนต์

2. ถ้วยน้ำมันเบรกจะติดอยู่บริเวณชิดกับตัวถังรถในส่วนที่ติดกับกระจก ให้เช็กระดับของน้ำมันเบรกในถ้วยว่าอยู่ในระดับไหน
ถ้าระดับน้ำมันเบรกอยู่ MAX ไม่ต้องเติมน้ำมันเบรก MIN
ต้องเติมน้ำมันเบรกให้ถึงเส้น MAX ห้ามเติมน้ำมันเบรกเกินระดับ MAX
เพราะจะทำให้น้ำมันเบรกกระฉอกเวลารถวิ่ง
ซึ่งน้ำมันเบรกจะทำปฏิกิริยากับสีรถหรือบริเวณใกล้เคียงให้เสียหายได้

3. ก่อนเปิดฝาน้ำมันเบรกให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณฝาปิด-เปิด ให้สะอาด
เพื่อป้องกันเม็ดทรายหรือละอองต่างๆตกลงไป ซึ่งอาจทำใหระบบเบรกเสียหายได้

4. เติมน้ำมันเบรกลงไปในถ้วยตามระดับในข้อที่ 2

5. ปิดฝาให้เรียบร้อย อย่าลืมก่อนปิดฝาต้องทำความสะอาดบริเวณฝาปิด
ถ้วยน้ำมันเบรกด้วย มีรถยนต์รุ่นเก่าบางรุ่น
ถ้วยน้ำมันเบรกจะติดอยู่บริเวณหัวเก๋งด้านคนขับก็ใช้วิธีการเติมแบบเดียวกัน

การดูแลรักษาระดับน้ำมันเบรกและเติมน้ำมันเบรกให้ดูทุกๆ 3 วัน อย่าทิ้งให้นาน
เพราะปริมาณน้ำมันเบรกจะลดลงในการใช้งานทุกครั้งจึงต้องหมั่นดูแล

ข้อควรระวัง
น้ำมันเบรกสามารถทำปฏิกิริยากับสีรถได้ ฉะนั้นเมื่อทำหกหรือหยดลงบริเวณตัวถังรถ
รีบเช็ดให้แห้งทันที อย่าปล่อยไว้เพราะจะทำให้สีถลอกได้
และห้ามวางขวดน้ำมันเบรกบนฝากระโปรงรถอย่างเด็ดขาด

น้ำมันเบรกควรจะมีการเช็กถึงคุณสมบัติ
เมื่อรถยนต์วิ่งได้ประมาณ 10,000 กิโลเมตร และเช็กทุก 10,000 กิโลเมตร
จนถึง 40,000 กิโลเมตร จึงถ่าย น้ำมันเบรกเก่าออกแล้วเติมน้ำมันเบรกใหม่ลงไปแทนที่


สำหรับในส่วนของผ้าเบรกจากเบรกนั้น
ยกให้เป็นหน้าที่ของช่างตรวจสภาพเมื่อครบตามเวลาหรือระยะทางที่กำหนดมาให้
ในคู่มือรถยนต์ เพราะเป็นส่วนที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

เบรกมือ
คือเบรกที่ใช้ช่วงรถจอดสนิทหรือขณะที่รถขึ้นสะพานแล้วรถติดหรือทางลาดชันและ
รถติดอีกเช่นกัน ระบบเบรกมือนี้จะเป็นกลไกที่จะไปล็อกล้อหลังไม่ให้เคลื่อนที่

เบรกมือจะอยู่บริเวณเกียร์ คืออยู่ถัดจากเกียร์ลงมาทางด้านหลังในกรณีของรถเก๋ง
และอยู่บริเวณข้างพวงมาลัยรถในกรณีของรถบรรทุกเล็กและรถตู้

การดูแลรักษาเบรกมือไม่มีอะไร เพราะไม่มีส่วนที่ต้องคอยดูแล เพียงแต่เมื่อใส่เบรกมือ
แล้วเวลาจะออกรถอย่าลืมปลดเบรกมือด้วย จะสังเกตได้จากไฟเบรก
ซึ่งจะทำระบบเบรกทางล้อหลังเสียได้ แต่รถยนต์บางรุ่นถ้ารถไม่ได้ปลดเบรกมือ
รถยนต์จะไม่วิ่งจนกว่าจะปลดเบรกมือให้เรียบร้อยเสียก่อน

การใช้เบรกมือที่มีตำแหน่งอยู่บริเวณใต้พวงมาลัยให้ด้ามจับเบรกมือขึ้นมาจนสุดเช่นกัน
แล้วหมุนไปทางขวาสูงสุด เวลาปลดก็ให้หมุนมาทางซ้ายและกด เช่นกัน


เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเบรก
เบรกแบบดิสก์หรือแบบจานจะมีประสิทธิภาพการเบรกได้ดีกว่าเบรกแบบดรัม
หรือแบบกระทำรถโดยทั่วไป นิยมใช้เบรกทั้งสองร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาที่ระบบเบรก
เกิดเสียขึ้นมาส่วนใดส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ยังสามารถทำงานได้

ข้อมูลจาก : http://benznk.com/motortech28.html
ที่มา : นิตยสารตลาดรถ คอลัมน์รักษ์รถ


การแซงอย่างมีมารยาท และปลอดภัย

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องการแซงจะเป็นปัญหาที่เห็นกันเรื่อยๆสำหรับ คนที่ขับรถมาหลายปีแล้ว
แทนที่จะเป็นมือใหม่ คงเพราะมือใหม่อาจจะไม่ค่อยอยากแซง
และเวลาแซงมักจะหันไปดูแล้วดูอีกเลยไม่ค่อยมีปัญหา
แต่คนที่ขับรถมานานคงจะทราบถึง "จุดบอด" ในการแซงเป็นอย่างดีและคงมีประสบการณ์มา
บ้างแล้ว นั่นคือมุมมองช่วงด้านข้างของรถค่อนไปทางข้างหลังเราทั้งซ้ายและขวา
เพราะเวลาขับรถถ้ามีรถขับข้างๆเราค่อนไปข้างหลังนิดหน่อย เราจะมองไม่เห็นจากกระจกข้าง
เพราะมุมของกระจกจะเลยรถคันนั้นไป และสายตาเราก็มองไม่เห็นเพราะเรามองไปข้างหน้าอยู่
รถที่อยู่ค่อนไปข้างหลังหน่อยก็ไม่อยู่ในรัศมีของสายตาเรา เวลาเราจะแซงหรือเปลี่ยนเลน
เราก็จะเบียดเข้าไปในเลนที่คิดว่าโล่งทันที ถ้ามีรถอยู่ตรงนั้นละก็ ไม่เสียงแตรพร้อมเสียงสวด
ก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ คนขับเองก็คงตกใจไม่ใช่น้อยว่า มาจากไหน
คนที่ถูกปาดก็คงงงว่าเข้ามาได้ยังไง อยุ่ตรงนี้ทั้งคัน
แต่คนที่มีประสบการณ์จะเข้าใจดีว่า คันนั้นไม่เห็น เพราะเป็นจุดบอด


วิธีป้องกันไว้ก่อนง่ายๆ มีดังนี้ ถ้าท่านเป็นคันที่จะแซง

ก่อนแซง
ควรเหลือบหรือหันไปดูซักแว้บเดียวไม่ว่าซ้าย-ขวา ท่านจะเห็นชัดว่าควรทำยังไงต่อ

ถ้าไม่ชอบหัน ลองหากระจกเงานูน เล็กๆที่มีขายกันทั่วไปมาติดกระจกข้าง
ลองใช้จนเคยชินก็ช่วยได้ จะได้มุมมองเหมือนกระจกข้างเบนซ์เชียวหละ

ตอนแซงหรือเปลี่ยนเลนค่อยๆเปิดไฟเลี้ยวทุกครั้งก่อนหักออก เพื่อความไม่ประมาท
ถ้ามีรถอยู่ท่านอาจจะได้ยินเสียงแตรเตือนให้ทราบก่อนว่ามีรถอยู่
และถ้ามีเหตุอะไรจะได้ตั้งตัวทันหักกลับชะลอรถได้ ถ้าท่านเป็นคันที่อยู่ตรงจุดบอดของคันหน้า

ควรหลีกเลี่ยงการขับด้วยความเร็วเท่าๆกัน
โดยที่ท่านต้องอยู่ตรงนั้นไปนานๆ เร่งแซงไปหรือชะลอรถลงมาให้อยู่ห่างหน่อยดีกว่า

ช่วงเร่งแซงสังเกตุคันหน้า ถ้ามีการเริ่มเบียดเข้ามาให้บีบแตรเตือนทันที กันไว้ก่อน

พร้อมเบรคทันที ถ้าคันหน้าเบียดเข้ามาเต็มๆ ทำใจว่าเป็นจุดที่เค้ามองไม่เห็นจริงๆ
หรือคิดซะว่าทำบุญ ไปแล้วกัน เพราะบางคันก็รู้แต่ ข้าจะรีบไปประมาณนั้น

คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ

การใช้รถยนต์ “ป้ายแดง” อย่างถูกวิธี

แม้เทคโนโลยีด้านโลหะวิทยาจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องยนต์ในยุคปัจจุบันมีความทนทานมากขึ้น
แต่ก็ไม่ควรละเลยการรัน-อิน อย่างถูกวิธี เพราะมีผลต่ออายุการใช้งานของรถในระยะยาว

รถยนต์ใหม่ทุกคันต้องมีระยะ รัน-อิน หมายถึง การใช้งานในระยะแรกอย่างถูกวิธี
เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนมีการปรับสภาพได้อย่างเหมาะสม การใช้งานแบบเต็มกำลังตั้งแต่แรก
ทำให้มีการสึกหรอสูงและรวดเร็วมาก เพราะชิ้นส่วนต่างๆยังไม่เข้าที่
เพียงแต่ในปัจจุบันนี้ได้ลดระยะทางในการรัน-อินจากแต่ก่อนมากแล้ว


อดใจสักนิด อย่าเพิ่งลากรอบ
ระยะทาง 0-1,000 กิโลเมตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้รอบเครื่องยนต์เกิน 2,500-3,000
รอบ/นาที หรือเปลี่ยนความเร็วรอบขึ้น-ลงแบบกระทันหันโดยไม่จำเป็น
การเปลี่ยนจากเกียร์ต่ำขึ้นสู่เกียร์สูง ควรทำอย่างนิ่มนวลที่ระดับ 2,500 รอบ/นาที
แล้วถอนคลัตช์ช้าๆ ส่วนการเปลี่ยนจากเกียร์สูงลงสู่เกียร์ต่ำ เพราะต้องการใช้เกียร์สัมพันธ์กับ
ความเร็ว ไม่ควรเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำ เพราะต้องการใช้เกียร์และเครื่องยนต์ช่วยเบรก
ถ้าต้องการเบรกให้เหยียบเบรกตามปกติ ในช่วง 0 - 5,000 กิโลเมตร
ไม่ควรใช้รอบเครื่องยนต์เกิน 4,000 รอบ/นาที

เมื่อถึงระยะ 1,000 กิโลเมตร ให้ถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองทิ้งท้าย
เพื่อเอาเศษสกปรกที่หลุดจากชิ้นส่วนต่างๆและปะปนอยู่ในน้ำมันออก
(แม้บางศูนย์บริการจะไม่ระบุไว้ก็ตาม)


รถยนต์ป้ายแดงกับการเดินทางไกล
การเดินทางไกลกับรถยนต์ใหม่สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เทคนิคและความระมัดระวังเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะรถยนต์ที่ยังไม่พ้นระยะรัน-อิน การเดินทางไกลกับการใช้รอบเครื่องยนต์ในรถยนต์
ใหม่ อาจมีความเข้าใจผิดในหลายกรณี โดยเฉพาะในเรื่องความเร็ว ผู้ใช้ส่วนหนึ่งคิดว่า
ในเมื่อเดินทางไกลมักใช้ความเร็วสูง แล้วจะควบคุมรอบเครื่องยนต์ได้อย่างไร
เพราะถ้าขับเร็วก็น่าจะต้องใช้รอบสูงด้วย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

การขับด้วยรอบเครื่องยนต์ระดับปานกลาง ก็สามารถไต่ขึ้นสู่ความเร็วตามกฎหมายกำหนดได้
รถยนต์ส่วนใหญ่ในความเร็วระดับ 90-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเกียร์สูงสุดไม่ว่าจะเป็น
เกียร์ธรรมดาหรือเกียร์อัตโนมัติมักใช้รอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,500-3,000 รอบ/นาที
เท่านั้น ซึ่งไม่สูงเกินไป การเดินทางไกลมีข้อดี คือ สามารถขับได้อย่างนุ่มนวลและควบคุม
รอบเครื่องยนต์ได้ตามต้องการ แต่ไม่ควรขับแช่ที่ความเร็วเดียวกันต่อเนื่องนานๆ
ควรเปลี่ยนแปลงความเร็วบ้าง โดยอาจสลับด้วยกาสรผ่อนความเร็วลงเล็กน้อย

สำหรับกรณีคับขัน เช่น ต้องเร่งแซงหลบหลีก ก็สามารถกดคันเร่งได้เลย
ไม่ต้องเน้นรักษารอบเครื่องยนต์มากเกินไป จนขาดความปลอดภัยหรือถูกชน


อย่าไว้ใจ.....แม้เป็นป้ายแดง
รถยนต์ส่วนใหญ่มักมีการผลิตครั้งละเป็นจำนวนมากๆ แม้มีการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด
ก็ยังอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้นเจ้าของรถป้ายแดงจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ
หมั่นตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ถ้าพบความผิดปกติจะได้เคลมก่อนหมดประกัน

ที่มา GM online

การจอดรถอย่างมีมารยาท

1. ไม่ควรจอดรถใกล้ปากซอย หรือทางเข้าออกมากเกินไป ทั้งช่วงก่อนถึงและช่วงที่รถ
ต้องเลี้ยวออก ท่านจะทำให้รถที่เลี้ยวเข้าต้องชะลอรถบนถนนใหญ่ และเวลาออกไม่สามารถ
ชิดซ้ายเพื่อเลี้ยวออกได้ทันที ทำให้รถติด ในซอย และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

2. ไม่ควรจอดรถใกล้ทางแยกในซอยที่แคบประมาณสองเลน รถท่านอาจโดนเฉี่ยวจากรถ
ที่ตีวงเลี้ยวไม่พ้นได้ และทำให้การจราจรติดขัดเพราะรถทุกคันต้องชะลอเพื่อหลบรถท่าน

3. หากท่านที่ยังถอยจอดไม่คล่อง ควรฝึกให้เกิดความเคยชิน
เพื่อความรวดเร็วของทั้งตัวท่านเองและเพื่อนผู้ใช้รถทุกคน

4. ก่อนจอดอย่าลืมดูว่ามีคันอื่นที่มาก่อนเราจอดเปิดไฟกระพริบรออยู่หรือไม่
ส่วนมากมักจะเลยไปจากช่องที่ว่าง เพื่อถอยจอด เอาหัวออกมาก่อนให้เค้าได้ออกก่อน

5. อย่าจอดรถหันหัวรถสวนทางกับรถที่วิ่งมา หรือจอดรถต้องชิดซ้ายนั่นเอง
ถ้าวิ่งๆมาแล้วเห็นซีกขวาของซอยว่างแล้ววิ่งสวนเลนไปจอดโดยไม่กลับรถ
ถือว่าผิดกฎจราจร มีสิทธ์โดนใบสั่งได้

6. เส้นเหลือง ห้ามหยุด เผื่อๆไว้หน่อย อย่าตามติดคันหน้า
ถ้าไม่แน่ใจว่า รถท่านจะพ้นเส้นเหลือง

7. ในสถานที่ที่เป็นวันเวย์ต้องวิ่งวนเพื่อออกแล้วไปเจอรถวิ่งช้าเพื่อหาที่จอด
ก็ช่วยๆกันใจเย็นๆ ถ้าเรา เป็นคันหาที่จอดก็เร่งๆหน่อย แต่ถ้าเป็นคันหลังก็ใจเย็นหน่อย
ถนนแบ่งๆกันใช้ จะไปเร่งเค้ามากก็เกินไป แต่คันหน้าช้าไปก็ไม่ดี แบ่งๆกันไปใจเย็นๆ
ยังไงอยู่ในสถานที่แบบนั้นก็ไม่ควรขับเร็วมากนัก

8. จอดรถซ้อนคัน อย่าลืมปลดเบรคมือ ยิ่งซ้อนสองคัน ยิ่งอย่าลืมใหญ่

9. อย่าจอดคร่อมสองช่องจอด หรือชิดเส้นซะจนคันอื่นเข้าไม่ได้
เสียดายถนน เงินภาษีพวกเราทั้งนั้น

10. หลีกเลี่ยงการจอดรถขวางหน้าบ้าน ตึกแถว ถ้าจำเป็นอย่าลืมปลดเบรคมือ

11. บ้านไหนมีขโมยเยอะ ถ้าจอดในบ้านจอดเอียงหน่อยก็ดี ไม่งั้นมันจะเข็นออกง่ายไป
เห็นในข่าวเค้าเอา สังกะสีปูรอบรถ ใครเดินเข้าใกล้หรือคิดจะลากออกก็มีเสียงดังแล้ว
ส่วนพวกที่ล็อคพวงมาลัย ล็อคเกียร์ ล็อค คลัทช์ ทำได้แค่ยืดเวลางัดออกไปเท่านั้น
ไม่กี่นาที ก็ขนไปแล้ว

การขับอย่างปลอดภัยบนทางด่วน

การขับขี่รถบนทางด่วนดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้ใช้รถในปัจจุบัน
เพราะทุกวี่วันก็ใช้บริการทางด่วนอยู่แล้ว หรือเป็นเรื่องที่ผู้อ่านรู้อยู่แล้วแต่ไม่ได้ใส่ใจ
แต่ใครจะรู้บ้างไม่ว่าเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่"ผู้จัดการ มอเตอร์ริ่ง" จะมานำเสนอ
อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้รถบ้างหากเกิดอุบัติจริง ๆ
หรืออย่างน้อยก็เป็นความรู้ที่ผู้ใช้รถเป็นพาหนะคู่กายควรจะรับรู้ไว้ซึ่งก็ไม่เสียหายอะไร

ข้อควรจำในการใช้ทางด่วน โดยหลักการแล้ว
การขับรถบนทางด่วนจะง่ายกว่าการขับรถบนท้องถนนธรรมดา
เนื่องจากไม่มีสี่แยกและไม่มีรถวิ่งสวนมา
แต่ด้วยเป็นการขับบนทางด่วน ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย
อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือโศกนาฎกรรมอันใหญ่หลวงได้

ลักษณะเฉพาะของอุบัติเหตุบนทางด่วน
ส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุชนกันหรืออุบัติเหตุเดี่ยว(รถคันเดียว)
การขับรถบนทางด่วน การเตรียมการล่วงหน้าดังต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก

1.วางแผนขับรถอย่างสบาย ๆไม่รีบร้อน
เมื่อขับรถบนทางด่วนในระยะทางยาวๆ ผู้ขับเพียงแต่เหยียบคันเร่งเพียงอย่างเดียว
จึงสามารถทำให้ง่วนนอนได้ ความระมัดระวังจึงลดน้อยลง ทำให้ผิดพลาดได้
เมื่อไรจะใช้ทางด่วนพึงควรปฎิบัติดังนี้
-ตรวจสอบจุดบริการ และจุดจอดรถไว้ล่วงหน้า
-กำหนดล่วงหน้าว่าจะจอดพักที่ไหนและเติมน้ำมันที่ไหน


2.ต้องตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนเดินทาง
การตรวจสอบรถยนต์และสัมภาระควรทำแต่เนิ่น ๆ
อย่าพยายามตรวจอย่างเร่งรีบก่อนออกเดินทางหรือขึ้นทางด่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างลืมตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้ให้เรียบร้อย
- เชื้อเพลิง ปริมาณน้ำมันมีพอหรือไม่
- หม้อน้ำ ปริมาณน้ำในหม้อน้ำมีพอหรือไม่ หม้อน้ำรั่วไหม
- มีน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรกพอหรือไม่
- สายพานพัดลมตึงพอดีไหม มีรอยขาดหรือไม่
- ยางเก่าเกินไปหรือเปล่า ลมยางแข็งกว่าปกติ 20-30% หรือไม่
สัมภาระ ใช้เชือกผูกอย่างแข็งแรงแน่นหนาแล้วหรือยัง

นอกจากนี้ ควรนำไฟหรือแผ่นป้ายที่มีเครื่องหมายแสดงว่ามีรถกำลังจอดอยู่(ป้ายสามเหลี่ยม)
นำไปติดตั้งไปด้วย เผื่อรถกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนแล้วจำเป็นต้องจอดรถบนทางด่วน


3.สนใจติดตามข่าวการจราจร
หากผู้ขับขี่ไม่ทราบข่าวคราวการจราจรที่เพียงพอ อาจเป็นสาเหตุให้ต้องรีบเร่ง
และเกิดกังวลกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อจะใข้ทางด่วนควรจะ
-สอบถามไปยังศูนย์ข้อมูลการจราจรวล่วงหน้าเพื่อขอทราบข้อมูล

-ให้ความสนใจเครื่องหมายจราจรหรือแผ่นป้ายต่างๆ
บนทางด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มองข้ามข้อมูลที่สำคัญไป

-ใช้วิทยุในรถฟังข่าวจราจร


4.ควรรัดขัดเข็มนิรภัยทุกครั้ง
ผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถทุกคน ควรรัดเข็มขัดนิรภัย
เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุในกรณีที่คาดไม่ถึง
นอกจากนั้นแล้วเข็มขัดนิรภัยยังช่วยให้ผู้ขับขี่อยู่ในท่านั่งที่ถูกต้อง
และยังมีประโยชน์ช่วยลดความเมี่อยล้าและทำให้ขับรถได้อย่างมั่นคง

ที่มา : ผู้จัดการมอเตอร์ริ่ง

การหลีกเลี่ยงคนเมาเหล้าขับรถ


แม้ว่าเมืองไทยจะพยายามออกกฎหมายให้จับและปรับคนขับรถที่เมาเหล้า
แต่ก็ยังมีผู้ที่เมาเหล้าแล้วยังขับรถอยู่ดี
คนเมาเหล้าขับรถ นับว่าเป็นตัวอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อการจราจรของเรา
50% ของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากคนเมาเหล่านี้ โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนไปแล้ว
1 ใน 10 ของคนขับรถบนท้องถนนเป็นพวกที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ หากกฎหมายยังห้ามเขา
ไม่ให้ขับรถไม่ได้เด็ดขาด เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงคนขับรถเมาเหล้า
ประเภทนี้แล้วล่ะค่ะ(หากคุณมีธุระต้องออกจากบ้านในตอนกลางคืน)

หากคุณเห็นรถคันหน้าขับรถแบบนี้ แสดงว่าคุณกำลังเจอคนเมาขับรถเข้าให้แล้ว
1.มีวงเลี้ยวที่กว้างมากผิดปกติ
2.ขับรถคร่อมเลนตลอดเวลา
3.ขับรถกินซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เอาแน่ไม่ได้
4.จู่ๆ ก็หยุดรถกระทันหัน
5.เลี้ยวรถกระทันหัน หรือเลี้ยวรถในที่ห้ามเลี้ยว
6.เร่งสปีดเร็วมาก
7.ลืมเปิดไฟหน้ารถ (ในตอนกลางคืน)
8.เกือบจะชนรถคันหน้า หรือเกือบเฉี่ยวสิ่งของข้างทาง
9.ขับแบบล่องลอย ไม่รู้ว่าจะขับรถไปทิศทางไหนดี
10.ตอบสนองต่อไฟจราจรช้า
11.ขับรถผิดทาง

สิ่งที่คุณควรทำ

1.รักษาระยะห่างจากรถคันดังกล่าว อย่าพยายามขับไปใกล้ หรือแซง
คนขับขี้เมาพวกนี้อาจเฉี่ยวรถคุณเข้าให้ก็ได้

2.ถ้ารถคันดังกล่าวอยู่ข้างหลังคุณ,ควรเลี้ยวขวาที่สี่แยกที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้รถคันนี้ผ่านคุณไป

3.ถ้ารถคนเมากำลังวิ่งสวนคุณมา คุณควรขับชิดซ้ายให้มากที่สุดหรือถ้าหยุดได้ก็จอดชั่วคราว
แล้วกระพริบไฟหน้ารถหรือบีบ แตรเพื่อให้คนขับรู้สึกตัว

4.เมื่อใกล้สี่แยกโดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนแล้วควรชะลอรถ เพราะอาจเกิดสิ่งที่นึกไม่ถึงขึ้นก็ได้

5.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถ และไม่ว่านั่งอยู่ในตำแหน่งไหนในรถก็ตาม
และอย่าลืมล็อคประตูรถด้วย

6.หากพบคนเมาขับรถ จดทะเบียนรถ, สีรถ แล้วโทร บอกตำรวจ หรือจส. 100

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างในการระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย
เพื่อที่เราจะสามารถช่วยตัวเอง,สมาชิกในครอบครัว และทรัพย์สินของเราให้ปลอดภัย
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันได้ทุกเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนปลอดภัยในการขับรถบนท้องถนน และอย่าขับรถเมื่อคุณเมา

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การขับรถบนถนนที่ลื่น และแก้ปัญหารถติดหล่ม

การขับรถบนถนนที่ลื่น หากคุณต้องขับรถในหน้าฝน ซึ่งถนนมักลื่นเปียกอยู่เสมอ คุณจำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษ
เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลง
หลุม บ่อ อิฐ ตะปู และเศษสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะหากละเลยอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ในสภาพฝนตก การเร่งความเร็วและเบรกแรง ๆ สามารถทำให้รถลื่นไถลได้
จึงจำเป็นต้องระมัดระวังและสร้างสมาธิในการขับมากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามจำไว้ว่าหากเกิดการลื่นไถลขึ้นสิ่งที่คุณควรทำคือ
อย่าตกใจ
ยกเท้าออกจากคันเร่ง
   เหยียบเบรกเบา ๆ
   หมุนพวงมาลัยไปทิศทางเดียวกับหน้ารถจนกระทั่งคุณสามารถควบคุมรถได้

ถ้าคุณติดหล่ม
อย่าเร่งเครื่อง การโม่บดอย่างแรงจะทำให้หลุมลึกขึ้น
โรยกรวดทราย หรือขยะ (วัสดุที่เพิ่มการเสียดสีของล้อ)ด้านหน้าของยางทั้งหมดเพื่อรองรับการบด
โดยเฉพาะล้อท้าย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ยางยึดเกาะจนเคลื่อนออกจากหลุมได้

ถ้าทำตามวิธีทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่สามารถออกจากหลุมได้ ให้โทรขอความช่วยเหลือจากบริการปัญหารถ

การแก้ปัญหาพวงมาลัยดึง

การที่เราขับรถแล้วพบว่ามีอาการดึงไปข้างใดข้างหนึ่งทำให้ต้องคอยหักพวงมาลัยขืนเอาไว้

ตัวปัญหา มีด้วยกันหลายจุด ต้องพิจารณากันให้ดี

เกิดเพราะยาง
เกิน 50% ที่อาการดึงของรถมีสาเหตุมาจากยาง เช่น แรงดันลมอาจจะต่ำไป
ก่อนจะไปพิจารณาที่อื่นควรทดลองวัดแรงดันลมยางเป็นอย่างแรก หากมีปัญหาลมยางอ่อน
ก็จัดการเติมให้ได้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด แต่ถ้าลมยางถูกต้องหรือเติมไปเรียบร้อยแล้วแต่อาการ
ดึงยังคงมีอยู่ หากยางที่ใช้เป็นยางใหม่และก่อนหน้าจะไปเปลี่ยนยางก็ไม่เคยมีอาการดึงแบบนี้
มาก่อนแสดงว่า ตัวปัญหาอยู่ที่ยางชุดใหม่ โดยอาจจะเกิดจากขั้นตอนการผลิตที่มีการวางเส้น
เข็มขัดรัดหน้ายางไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่า Off Center Belt
เวลายางกลิ้งไปบนถนนจะทำให้เกิดแรงกระแทกทางด้านข้าง (Side Force) เอาชนะแรง
ที่ทำให้ยางกลิ้งในทางตรง (Roll Straight Ahead) การทดลองให้รู้คือ
สลับยางหน้าทั้ง 2 เส้น ถ้าอาการดึงเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม ชัวร์ว่ายางเป็นเหตุได้เลย
หากไม่สามารถเปลี่ยนยางเส้นใหม่ได้ก็ต้องลองสลับเอายางจากล้อหลังมาใช้แทน
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการพวงมาลัยดึง เป็นเรื่องของการใช้ยางเก่าหรือยางกลางเก่ากลาง
ใหม่ ยางที่มีการสึกของดอกยางมากน้อยต่างกันแต่กลับนำมาใช้ร่วมกัน
การใช้ยางผิดประเภทหรือการใช้ยางต่างขนาด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการดึงเช่นกัน


ช่วงล่างมีปัญหา
หลังการทดลองสลับยางแล้วพบว่าอาการดึงของพวงมาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลง
หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เคยดึงไปทางด้านไหนก็ยังคงดึงไปทางเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนใจ
แสดงว่างานนี้ยางไม่เกี่ยวก็ต้องพิจารณาที่จุดอื่น เช่น อาจเกิดจากศูนย์ล้อไม่ถูกต้อง
โดยแม้จะคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้รถเกิดอาการดึงไปด้านใดด้านหนึ่งได้
โอกาสที่ศูนย์ล้อจะเกิดการผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปนั้นมีได้มาก อย่างเช่น ถ้ายางมีการสึกหรอมาก
แต่ค่อนข้างสม่ำเสมอที่ขอบหน้ายางด้านใดด้านหนึ่ง จะมีผลทำให้มุมแค็มเบอร์ผิดไป
และจะเกิดอาการดึงมากขึ้นยามขับบนถนนต่างระดับหรือพวกถนนหลังเต่า
แต่หากขอบหน้ายางด้านใดด้านหนึ่งสึกเป็นจุด เป็นชั้นหรือสึกไม่เรียบ ปัญหาก็เหมือนกับว่า
ระบบช่วงล่างหลวมหรือตัวรองรับน้ำหนักทรุดทำให้มุมแค็มเบอร์เปลี่ยนไปเป็นจังหวะๆ
ขณะที่รถวิ่งพวกคอยล์สปริงหรือแหนบที่นิ่มล้าหรือทรุดตัวแล้วจะเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลทำให้
ชุดแค็มเบอร์เปลี่ยนแปลง รถที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักเป็นคอยล์สปริง เราสามารถทดสอบและ
ตรวจเช็คว่ามันล้าหรือทรุดตัวหรือยังได้หลายทาง เช่น จากการสังเกตเวลาเลี้ยวโค้งเร็ว ๆ
จะพบว่าตัวรถมีอาการเอียงตัวมากกว่าปกติ หรือตรวจสอบความสูงของตัวรถเมื่อพบว่าความสูง
ทางด้านหน้ากับด้านหลังตลอดจนด้านซ้ายกับด้านขวามีความสูงแตกต่างกันเกินกว่า 13 มม.
หรือ ½ นิ้ว ก็แสดงว่าสปริงล้าหรือทรุดตัวแล้ว สำหรับรถที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักเป็นแหนบ
ต้องตรวจสภาพแหนบว่ายังอยู่ดีหรือไม่แหนบหักหรือเปล่า
พวกน็อตสาแหรกยึดตับแหนบมีรายการ หลุดหลวม คลายตัวหรือไม่
พวกหูแหนบหรือโตงเตงแหนบมีการชำรุดหรือไม่ พวกที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักแบบทอร์ชั่นบาร์
เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็มีอาการล้าและทรุดตัวได้เช่นเดียวกัน
และบางทีด้านซ้ายกับด้านขวาจะทรุดไม่เท่ากัน จากการรับน้ำหนัก จะแตกต่างกัน
หากนั่งคนเดียวบ่อยๆด้านขวามักจะทรุดมากกว่า แต่ระบบรองรับน้ำหนักแบบทอร์ชั่นบาร์นี้ดี
อยู่อย่างคือ สามารถปรับตั้งระดับความสูงได้ จึงควรตรวจเช็คระดับความสูงของรถให้เท่ากัน


ลูกปืนและลูกหมาก
เป็นอีกจุดที่สามารถสร้างปัญหาให้รถเกิดอาการดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ควรตรวจสภาพของลูกปืนล้อและลูกหมากหากทำเองไม่ได้ก็ควรนำรถไปหาช่าง
การตรวจสอบลูกหมากนี้สามารถทำต่อเนื่องจากการตรวจสอบลูกปืนล้อได้เลย

ยังมีอีกหลายจุดที่ทำให้เกิดปัญหาพวงมาลัยหันไม่ตรงกับทิศทางที่เราขับรถไป
ต้องเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ มุมแคสเตอร์มีปัญหา
เนื่องจากมุมแคสเตอร์จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการดึงของล้อหลังจากที่ได้หักเลี้ยวไปแล้ว
หากมีปัญหาก็จะมีผลกับน้ำหนักของพวงมาลัย การตอบสนองของพวงมาลัย การเลี้ยว
รวมทั้งยังมีผลกับการทรงตัวของรถยามเบรก และประสิทธิภาพในการหยุดรถอีกด้วย
แต่ถ้าเหยียบเบรกเพื่อชะลอหรือหยุดรถแล้วพบว่าพวงมาลัย ถูกดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง
แบบนี้แสดงว่าตัวการเกิดขึ้นจากระบบเบรกซึ่งก็ต้องพึ่งพาให้ช่างเขาจัดการให้เช่นกัน

ข้อมูล : นิตยสารยานยนต์




การขับขี่กับรถเสียศูนย์

รถที่เสียศูนย์สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง

รถยนต์ที่ได้มาตรฐานนั้น นอกเหนือจากโครงสร้างตัวถัง เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ แล้ว
ทางทีมผู้ผลิตยังได้ออกแบบระบบควบคุมทิศทาง ระบบรองรับน้ำหนัก และระบบกันสะเทือน
เพื่อให้รถแต่ละคันมีประสิทธิภาพ และมีสมรรถนะในการขับขี่
รวมถึงการยึดเกาะถนน และการควบคุมพวงมาลัยให้สมบูรณ์ที่สุด

สำหรับรถยนต์ที่ถูกใช้งานอย่างสมบุกสมบันบนพื้นผิวถนนที่ขรุขระ หรือเกิดอุบัติเหตุ
หรือเกิดการสึกหรอของชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อันเนื่องมาจากอายุการใช้งาน
ซึ่งมักจะมีผลกระทบที่ทำให้การบังคับทิศทางของรถคันนั้นไม่ตรงตามที่เรากำหนด
บางครั้งอาจเกิดอาการกินซ้าย หรือกินขวา ก็เป็นได้เช่นกัน หรือเรียกอีกอย่างว่า "เสียศูนย์"

เมื่อรถของคุณเองมีอาการเสียศูนย์ คุณสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองดังนี้
ในขณะขับขี่ทางตรง รถเกิดอาการเบนออกไปทางซ้ายหรือขวา ทำให้ผู้ขับขี่ต้องขืนพวงมาลัยตลอดเวลา
ขณะที่วิ่งเข้าโค้ง รถยนต์จะเสียการทรงตัวง่ายกว่าสภาพปรกติ
การสึกของยางผิดไปจากเดิม หรือที่เรียกว่า "ยางสึก"
ขณะวิ่งรอยล้อหลังจะไม่วิ่งไปทับรอยล้อหน้า
รัศมีวงเลี้ยวทางด้านซ้ายและขวาไม่เท่ากัน
ขณะเหยียบเบรคจะเกิดอาการปัดไปด้านใดด้านหนึ่ง

อาการเหล่านี้หากไม่รุนแรง ผู้ขับขี่สามารถนำรถเข้ารับการเช็กที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน
เพื่อให้ช่างปรับตั้งศูนย์ล้อใหม่ แต่ถ้าหากอาการดังกล่าวอยู่ในขั้นรุนแรง ควรนำรถเข้าซ่อมทั้งระบบทันที
ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนลูกหมากทั้งชุด ปรับแต่งองศาปีกนกและส่วนอื่น ๆ ให้ได้ค่าองศามาตรฐานตามเดิม
ที่ออกมาจากโรงงานผลิต

นอกจากนี้ ควรเลือกศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน พร้อมช่างที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์สูง
เพราะหากซ่อมไม่ถูกวิธี หรือใช้เครื่องดึงตัวถังที่ไม่ได้มาตรฐาน
องศาหรือค่ามาตรฐานของโครงสร้างตัวถังจะเสียไป ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนด้อยลง

ฉะนั้นผู้ขับขี่รถจึงควรดูแลรักษาระบบช่วงล่าง รวมทั้งลูกหมาก คันชักคันส่ง
เมื่อมีการเสื่อมสภาพ "ไม่ควรฝืนใช้งานไปเรื่อย ๆ เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างอื่นตามมา เช่น
อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่บนถนนขรุขระ
หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรใช้ความเร็วสูง ควรชะลอความเร็ว และหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นหลุมขนาดใหญ่"

สำหรับรถยนต์ที่ทำการดัดแปลงช่วงล่าง เช่น
เปลี่ยนช็อกแอบฯ ทำให้รถต่ำลง
ยกสูงใส่ยางขนาดใหญ่กว่ามาตรฐาน เพื่อให้รถมีความสวยงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
แต่การปรับแต่งเหล่านี้ จะส่งผลทำให้รถเกิดอาการเสียศูนย์ได้ง่ายกว่าปรกติมากขึ้น

ที่มา นิตยสาร รถวันนี้

กลยุทธ์พิชิตใบขับขี่ สำหรับมือใหม่



คุณๆคนไหนเริ่มหัดขับรถ หวังจะไปทำใขบับขี่ ทั้งไม่เคยผ่านสนามสอบจริงมาก่อน คงแอบมีกังวลกันบ้าง
มีขั้นตอนน่ารู้พร้อมข้อมูลที่ (มั่นใจ)ให้ประโยชน์ มาบอกมือใหม่หัดสอบไว้ใช้จริงในสนาม มาฝากกันค่ะ

สอบทฤษฎี

ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้เตรียมทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน รูป 2 ใบ
และใบรับรองแพทย์ ไปยื่นคำร้องที่กรมขนส่งใกล้บ้าน

จากนั้นไปทดสอบตาบอดสีจากเครื่องทดสอบหรือแผ่นภาพ โดยอยู่ห่างในระดับสายตาประมาณ 3 เมตร
และให้อ่านแต่ละสีไม่เกิน 3 ครั้ง ถ้าไม่ผ่าน ก็สามารถแก้ตัวใหม่ในวันนั้น หรือวันทำการถัดไป

ต่อด้วยเข้ารับการอบรมกฎจราจรประมาณ 2.5 ชม.
(มี 2 รอบ 08.30 น. และ 13.30 น.) ซึ่งทุกคนต้องผ่านการอบรมนี้

ตามด้วยสอบข้อเขียน ที่มีทั้งหมด 30 ข้อ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 22 คะแนน จึงจะถือว่าสอบผ่าน


สอบปฏิบัติ
(สามารถนำรถไปเองหรือไปเช่าสอบก็ได้) โดยเริ่มสอบจาก

การเดินหน้า/ถอยหลังเข้าซอง โดยท้ายรถต้องตั้งฉากกับขอบทาง ล้อต้องไม่ทับเส้น
การจอดเทียบฟุตบาทต้องห่างไม่เกิน 25 ซม.
การสอบหยุดรถไม่ทับ และห้ามเกิน 1 เมตรหลังเส้นให้หยุด
การกลับรถในช่องเดินรถ ที่มีหลักตั้งขนานกัน 2 แถว
โดยต้องกลับรถไม่ชน หรือ เบียดหลัก (ไม่เปลี่ยนเกียร์เกินกว่า 7 ครั้ง)

การหยุดและออกรถบนทางลาด ให้ขับที่ความเร็ว 20-30 กม./ชม.
แล้วหยุดในแนวเส้นที่กำหนด ต้องไม่ล้ำหรือต่ำเกินกว่า 1 เมตร

การหยุดรถและออกรถบนเนิน ต้องขับรถบนเนินหรือสะพานโค้ง
แล้วหยุดรถบนเชิงลาดของเนินให้กันชนหน้าอยู่ระหว่าง กึ่งกลางเนิน แล้วออกรถข้ามเนินอย่างปลอดภัย
(เครื่องยนต์ต้องไม่ดับเกิน 2 ครั้ง)

การขับรถตามเครื่องหมายจราจรไม่น้อยกว่า 5 ป้ายเครื่องหมาย
โดยใช้สัญญาณไฟ หรือสัญญาณมือ ทั้งต้องปฏิบัติตาม เครื่องหมายจราจรบนผิวถนนด้วย

โดยการทดสอบขับรถทุกชนิดให้ทดสอบเพียง 3 ข้อ จาก 7 ข้อ (ตามความเหมาะสมของสนามทดสอบ)
หากมีจุดใดไม่ผ่านต้องมาสอบใหม่วันอื่น และเมื่อสอบผ่านจะได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว 1 ปี
จากนั้นจึงขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลมีกำหนด 1 ปี
เมื่อครบกำหนดจึงขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถชนิดตลอดชีพได้
หากขาดอายุเกิน 1 ปี ท่านจะต้องทดสอบสายตาบอดสี และข้อเขียนใหม่
หากขาดอายุเกิน 3 ปี จะต้องทำการทดสอบใหม่ทั้งหมด

ที่มา http://www.lisathailand.com


กรองแอร์นั้นสำคัญอย่างไร?

หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่ารถรุ่นใหม่ เดี๋ยวนี้เค้ามีกรองแอร์แล้ว
บางท่านทราบแล้วแต่อาจคิดว่าไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ ก็รถเราใช้มาตั้งหลายปีแล้ว
ไม่เห็นมันจะเป็นไรเลย แล้วตกลงมันยังไงกันล่ะเนี่ย

โดยปกติแล้ว ระบบแอร์ในรถยนต์จะทำงานโดยให้พัดลม (Blower) เป่าอากาศไปที่คอยล์เย็น (Evaporator)
แล้วลมจะเป็นตัวนำพาความเย็นจากคอยล์แอร์ มายังผู้โดยสาร
(บางระบบจะให้พัดลมดูดความเย็นแล้วเป่าไปที่ผู้โดยสาร) เมื่อใช้ไปนานๆ ฝุ่น และสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น
เกสรดอกไม้ เส้นผม ขนสัตว์ เศษใบไม้ ใบหญ้า จะเข้าไปติดอยู่ที่คอยล์เย็น เกิดผลให้

1. ลมที่พัดมายังผู้โดยสารเบา แอร์ไม่เย็น ทำให้ต้องเร่งพัดลมแอร์ เร่งความเย็นมากขึ้น
เป็นผลให้เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้น

2. สิ่งสกปรก และเชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่ตรงคอยล์เย็น เล็ดลอดมายังผู้โดยสาร
ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ คัดจมูก ในบางคน

3. เมื่อสิ่งสกปรกเหล่านั้นไปเกาะคอยล์เย็นมากๆ บางครั้งเกาะจนแข็ง ตอนใช้งานปกติก็ไม่เป็นอะไร
แต่เมื่อถึงเวลาไปล้างแอร์ ปรากฎว่าคอยล์เย็นรั่ว (ประมาณ 30-40% และขึ้นอยู่กับความสกปรกของตู้แอร์)
เนื่องจากสิ่งสกปรกเหล่านี้ ได้ไปกัดกร่อนแผงคอยล์เย็นทำให้เกิดรูรั่วโดยที่ฝุ่นเหล่านั้นอุดรูรั่วอยู่
แต่หลังล้างแอร์สิ่งสกปรกที่อุดรูรั่วเหล่านั้นถูกล้างออกไป คอยล์เย็นรั่ว ทำให้แอร์ไม่เย็น


ดังนั้น วิศวกรยานยนต์จึงได้คิดค้น Air Filter เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นเกาะคอยล์เย็น
โดยออกแบบตู้แอร์ ให้ใส่ Filter ได้ เพื่อให้ Air Filter กรองสิ่งสกปรก ก่อนที่จะเข้าไปถึงคอยล์เย็น


ประโยชน์ที่ได้ จากการติดตั้ง Air Filter

สามารถกรองฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ และเชื้อราในอากาศซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้

ช่วยยืดอายุการใช้งานของคอยล์เย็นไม่ทำให้แอร์ตันจากฝุ่น ยืดระยะเวลาการล้างตู้แอร์

ช่วยยืดอายุการใช้งานของคอมเพรสเซอร์แอร์ เนื่องจากตู้แอร์ไม่มีฝุ่น
จึงสามารถทำความเย็นได้เร็วขึ้น เป็นผลให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานน้อยลง

ลดปัญหาเสียงดังอี๊ดอ๊าดจากการถอดเข้า-ออก ของคอลโซลเพื่อล้างตู้แอร์ในรถ
(รื้อออกมาล้าง ประกอบใหม่ อาจหลวม ไม่แน่นเหมือนเดิม)

ทำให้เบาะและคอลโซลในรถยนต์ไม่หมองเร็ว เพราะฝุ่นละอองในอากาศ

ขอบคุณ คุณ bank_evolution LCC
ที่มา http://www.wish-club.net