วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ขับขี่ปลอดภัย ... ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ

การตั้งสถาบันสอนกฎจราจรแห่งแรกในประเทศไทย เป็นเรื่องน่าชื่นชมในความตั้งใจดีของกระทรวงศึกษาธิการกับ
กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพราะเป็นที่รู้กันมานานว่าพฤติกรรมเสี่ยงคือ สาเหตุใหญ่ของอุบัติเหตุ
การที่เล็งเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย คงสะท้อนความเชื่อของผู้รับผิดชอบว่า การสอนกฎจราจร ตั้งแต่เยาว์วัยจะนำไปสู่
การลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ในระยะยาว เข้าทำนอง คติ “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”

ถ้าความเชื่อนั้นถูกต้อง ก็แปลว่าในระยะสั้น เด็กที่ผ่านการสอนของสถาบันนี้จะข้ามถนนเดินถนนถูกกฎ
ในระยะยาวเมื่อโตขึ้นมีรถขับ จะขับรถด้วยความ ปลอดภัยตามกฎจราจร
อนุมานต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่ผ่านการสอนจะประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าเด็กทั่วไป
เมื่อโตขึ้นจะประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่น้อยกว่า คนรุ่นเดียวกันที่ไม่ผ่านการสอน

ผู้เขียนก็อยากเอาใจช่วยให้เป็นไปในทางที่ดี แต่เมื่อไปสำรวจความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมสังเคราะห์ไว้
ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ชะรอยความเชื่อข้างต้นจะ ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้สนับสนุน

ดร.เมย์ฮิว แห่งมูลนิธิเพื่อการวิจัยการบาดเจ็บทางถนน ประเทศแคนาดาได้ตีพิมพ์บทสังเคราะห์องค์ความรู้
ใน วารสาร Injury Prevention ฉบับที่ 8 ปีพ.ศ.2545 รวบรวมความรู้ เกือบสามสิบปี
ตั้งแต่ปีพ.ศ.2518-2545 สรุปใจความสำคัญได้ว่า
โครงการฝึกอบรมหรือสอนขับขี่รถยนต์/จักรยานยนต์ทั้งหลายล้วนล้มเหลวในการส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย

ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับผลการสังเคราะห์ความรู้ก่อนหน้านี้ของนักวิชาการหลายกลุ่ม เช่น
จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันTransport South Australia
ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มCochrane Injuriesในสหราชอาณาจักร ฯลฯ
ซึ่งเสนอผลงานในระหว่างปีพ.ศ.2543-45

ซ้ำร้ายกว่านั้น งานวิชาการหลายชิ้นยังสรุปด้วยว่า การสอนขับขี่ชักนำให้ผู้เรียนได้ใบขับขี่มาเร็วกว่าคนวัยเดียวกันที่
ไม่ได้ผ่านการสอน เลยออกถนนเร็วกว่า และประสบอุบัติเหตุมากกว่าเพื่อน

ในรายงานชิ้นหนึ่งแสดงตัวเลขให้เห็นว่า ในบรรดานักเรียนชั้นมัธยมปลาย 16,388 คน
เมื่อจำแนกเป็นสามกลุ่ม สองกลุ่มแรกผ่านการอบรมการขับขี่หลักสูตร 72 ชั่วโมง และ24 ชั่วโมง
ได้ใบขับขี่ร้อยละ 88.4 และ 86.2 ตามลำดับ

ในขณะที่กลุ่มที่สามไม่ได้ผ่านการอบรมได้ใบขับขี่ ร้อยละ 84.3
เมื่อติดตามต่อมาพบอัตราการประสบอุบัติเหตุในสองกลุ่มแรกเท่ากับร้อยละ 28.6 และ 26.5 ตามลำดับ
และ ในกลุ่มที่สาม พบร้อยละ26.7


ถึงตรงนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับข้อสรุปที่ออกจะสวนทางกับสามัญสำนึกทั่วไป
ผู้เขียนจึงขอขยายความต่อไปว่า มีเหตุผลอันใดที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวเช่นนั้น

1. การสอนฯละเลยหรือไม่ให้น้ำหนักเพียงพอต่อการปลูกฝังความรู้และทักษะที่จำเป็นยิ่งต่อการขับขี่ ปลอดภัย
ตัวอย่างเช่น ทักษะในการประเมิน ความเสี่ยงบนถนน ผู้เรียนอาจไม่ถูกฝึกให้ตระหนักและสามารถประเมินความ
เสี่ยงของการขับขี่ยามค่ำคืน การขับขี่ขณะถนนลื่น การขับจักรยานยนต์บนช่อง ทางที่ใช้ความเร็วสูง เป็นต้น

2. การสอนฯ ไม่สามารถปลูกฝังเจตคติที่ดีในการขับขี่ปลอดภัย ทำให้ผู้เรียนไม่ใส่ใจที่จะนำทักษะและความรู้
ไปใช้ในชีวิตจริง ความจริงที่อาจมองข้ามคือ ในชีวิตจริงมีสิ่งเร้าให้ผู้เรียนขับขี่ไปในทางที่เสี่ยงภัย เช่น
โฆษณายานยนต์และผลิตภัณฑ์โดยใช้ความแรง ความเร็วเป็นจุดขาย ภาพยนตร์แนวแอ๊คชั่นที่ตัวละครแสดงลีลา
ผาดโผนขณะขับขี่ เพื่อนฝูงที่มีค่านิยมความเร็วและแรงในการขับขี่ ฯลฯ
สิ่งเร้าเหล่านี้มักมีแรงชักจูง(ในทางเสื่อม) มากกว่าเจตคติขับขี่ปลอดภัย ที่หลักสูตรปลูกฝังไว้

3. การสอนฯ สร้างความเชื่อมั่นเกินจริงในความสามารถของตนเอง มีหลักสูตรจำนวนไม่น้อยฝึกให้ผู้เรียนขับขี่
สามารถประคองรถในสภาพการณ์ที่ลื่นไถล แต่ในชีวิตจริงโอกาสที่จะเผชิญสถานการณ์นี้มีน้อย
ทำให้ทักษะที่เรียนมาเสื่อมถอยไป โดยที่ผู้เรียนไม่ทันรู้ตัว เลยหลงผิดว่าตนยังมีความสามารถนั้นอยู่
จึงชะล่าใจ ปล่อยให้ตนเองเข้าสู่สถานการณ์ลื่นไถลโดยไม่จำเป็น
ถ้าหันมาเน้นการฝึกสอนให้ผู้เรียนรู้จักและตระหนักในขีดจำกัดของตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะลดความฮึกเหิม
ลดความชะล่าใจนั้นได้ จะสังเกตเห็นว่า คนตาบอดและคนพิการอื่นๆมักระมัดระวังตัวในการเดินมากกว่าคนปกติ
เพราะตระหนักรู้ขีดจำกัดของตนเองตลอดเวลา

4. การสอนฯไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนจัดการกับสิ่งเร้าใจให้สุ่มเสี่ยงได้
มีการวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอุบัติเหตุกับสิ่งเร้า ใจให้สุ่มเสี่ยง เช่น
การท้าทายของเพื่อนให้แข่งรถ ตัวแบบในภาพยนตร์ การโฆษณาที่เย้ายวนด้วยค่านิยมโฉบเฉี่ยว เร็วแรง ฯลฯ
สิ่งเร้าในทางเสี่ยงเหล่านี้ รุมเร้าสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ในขณะที่การสอนขับขี่ส่วนใหญ่มองข้ามการฝึกทักษะ ฝึกการครองสติให้เผชิญกับสิ่งเร้าอย่างมีวิจารณญาณ

5. การสอนฯ ส่วนใหญ่มักมีหลักสูตรประเภทตัดเสื้อโหลแจกคือ ไม่คำนึงถึงพื้นเพทางสติปัญญา ทักษะ ความรู้
จิตใจ และร่างกายที่หลากหลาย จึงอาจจะไม่สามารถเติมเต็มในส่วนขาดที่สำคัญของแต่ละบุคคล
คนที่ตาบอดสีอาจผ่านการสอนโดยไม่ได้รับการพัฒนาทักษะในการแยกแยะสัญญาณไฟจราจร
ทำให้อาจตีความสัญญาณไฟผิดพลาด จนฝ่าไฟแดงและเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น


ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เจตนาให้ผู้อ่านตีความว่า ควรยกเลิกการสอนขับขี่ทุกรูปแบบ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า
ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมากรออยู่ หากการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนในเรื่องนี้จะก่อประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า

กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ตลอดจนภาคธุรกิจที่สนใจเรื่องนี้
ควรระดมสมอง และสังเคราะห์องค์ความรู้ให้รอบด้านเพื่อคิดค้นรูปแบบวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการใช้รถ
ใช้ถนนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย โดยมีการวิจัยประเมินผล คอยกำกับตรวจสอบว่า สิ่งที่ออกแบบและ
ดำเนินการเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ ยังมีส่วนใดต้องปรับปรุง
ผู้เขียนเชื่อว่า เส้นทางแห่งการพัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้การขับขี่ปลอดภัยเป็นเส้นทางที่ไม่มีจุดจบ
กระนั้นก็ตามหากจะริเริ่มให้สง่างาม พึงตั้งมั่นอยู่กับการใช้ความรู้ที่รอบด้าน

โดย นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ผู้จัดการหน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย(จรป)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขับเกียร์อัตโนมัติแบบง่ายๆ ในยุคน้ำมันแพง

อย่างที่เขาบอกๆกันว่า “ขับรถเกียร์อัตโนมัติไม่ยาก แต่เหยียบคันเร่งเป็นอย่างเดียวใช้ได้”
ซึ่งจริงๆแล้ว การขับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัตินั้น ไม่ยากอะไรหรอก
แต่มันมีเทคนิค และวิธีการ ที่ทำให้การขับรถเกียร์อัตโนมัติได้ประหยัดน้ำมัน
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมก็ขอเริ่มแนะนำ วิธีการใช้เกียร์อัตโนมัติง่ายๆเลยละกัน




ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ เกียร์ ต้องอยู่ตำแหน่ง P หรือ N เสมอ
ทุกครั้ง ก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ สำหรับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติเป็นตัวส่งกำลัง
เกียร์ต้องอยู่ที่ตำแหน่ง P หรือ N เสมอ และต้องเหยียบแป้นเบรคไว้ด้วย จึงจะสตาร์ทเครื่องยนต์ได้




ทุกครั้งก่อนเข้าเกียร์ ต้องเหยียบเบรค
จำเอาไว้เลยนะครับ สำหรับคนที่ขับรถเกียร์อัตโนมัติ ในขณะที่ เครื่องยนต์ติดอยู่
ทุกครั้งก่อนจะเข้าเกียร์ หรือเลื่อนเปลี่ยนทุกตำแหน่ง ต้องเหยียบเบรคไว้เสมอ
เพื่อป้องกันรถเลื่อนไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ




เร่งแซงในที่ขับขัน กดคันเร่ง ให้สุด
หลายคนที่ขับรถเกียร์อัตโนมัติไม่ชำนาญ มักบอกว่าเวลาที่เร่งแซงเกียร์ไม่ยอมเปลี่ยนให้
นั่นแสดงว่า ระบบ Kick Down ยังไม่ทำงานครับ ฉะนั้น...ลองดูใหม่ครับ
ต่อไปนี้ ถ้าจะเร่งแซง ให้กดคันเร่งให้สุด ระบบของเกียร์จะสั่งให้ลดอัตราทดของเกียร์ลง
เพื่อเพิ่มกำลังในการเร่งแซง เมื่อแซงพ้นเรียบร้อย ก็ถอนคันเร่งได้ครับ
เกียร์ก็จะเลื่อนตำแหน่งมาอยู่ในอัตราทดที่เหมาะสม กับความเร็วรถ ขณะนั้นครับ




อยากประหยัดน้ำมันให้ “กด” แล้ว “ถอน” และ “กด” ซ้ำอีกครั้ง
หากต้องการขับแบบประหยัดน้ำมันมากๆ เกียร์อัตโนมัติก็ทำได้ครับ
ง่ายๆ ทุกครั้งที่เราออกรถ เท้าของท่านก็กดแช่ไว้ที่แป้นคันเร่ง อัตราทดเกียร์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
จากเกียร์ 1 ก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2 และเกียร์ 3 ตามลำดับ
แต่ถ้าเราต้องการให้ตำแหน่งเกียร์เลื่อนเปลี่ยนไวขึ้น เพื่อการเซฟน้ำมัน ก็ทำได้ไม่ยากครับ
แค่ถอนคันเร่งขึ้นเล็กน้อย และกดแป้นคันเร่งซ้ำไปอีกครั้ง
เท่านี้ตำแหน่งของเกียร์ก็จะเปลี่ยนไวขึ้นครับ เป็นการขับแบบเซฟน้ำมัน สามารถช่วยได้ในยุคน้ำมันเช่นนี้ครับ




ก่อนจะออกรถทุกครั้ง ต้องเหยียบเบรคไว้ก่อน
การออกรถทุกครั้ง ต้องเหยียบเบรคไว้ก่อนเสมอ เนื่องจากเมื่อท่านเลื่อนเกียร์จากตำแหน่ง N มาที่ ตำแหน่ง D
กำลังจากจากเครื่องยนต์ จะถูกถ่ายทอดไปสู่ชุดเกียร์แบบทันทีทันใด
หากท่านไม่เหยียบเบรคไว้ รถก็จะกระตุก และพุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ถ้าบังเอิญด้านหน้ารถท่านจอดชิด กับท้ายรถคันหน้ามากเกินไป ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้




ไม่ควรออกกระชากแรงๆบ่อยครั้งนัก
หลายคนที่ชอบขับรถสไตล์นักซิ่ง ชอบออกรถแบบกระชากให้ล้อ ได้ร้องเอี๊ยดอ๊าดกันแทบทุกครั้ง
แบบนี้ ถ้าใช้กับรถเกียร์อัตโนมัติบ่อยๆ จะทำให้ท่านต้องเสียเงินซ่อมเกียร์ไวขึ้น
เนื่องจากผ้าคลัตซ์ในชุดเกียร์ จะหมดไวกว่าปรกติ 2 - 3 เท่า
รวมถึง จะทำให้ชุดทอร์คคอนเวอร์เตอร์ พังไวกว่าปรกติด้วยนะครับ




ลากรถเกียร์อัตโนมัติใช้ความเร็วเกิน 60 กม./ชม.
ในกรณีที่ต้องลากรถ ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติส่งกำลัง และล้อที่ขับเคลื่อน ต้องสัมผัส กับพื้นถนนเวลาลาก
เช่น รถขับเคลื่อนล้อหน้าถูกชนท้าย ต้องลากรถทางด้านท้าย
และให้ล้อคู่หน้าซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อนสัมผัส กับพื้นถนน เวลาลากรถไป
แบบนี้ต้องให้เกียร์อยู่ในตำแหน่ง N ซะก่อน หลังจากนั้นค่อยลากรถไปด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
หากต้องลากรถ ติดต่อกันเป็นระยะทางไกลๆ ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 ชม. ทุกๆระยะทาง 70-80 กม.
เพื่อป้องกันไม่ให้เกียร์เสียหาย


ที่มา: http://www.carvariety.com









ข้อควรรู้ของสาวๆ ในการใช้รถหน้าฝน

สาว ๆ อย่างเราที่มีความรู้เกี่ยวกันรถน้อยมาก ยิ่งเข้าหน้าฝนสาวอย่างเรา จะต้องประสบปัญหาเรื่องรถยนต์ต่าง ๆ
ได้อ่านบทความเจอ เห็นเป็นประโยชน์ กับสุภาพสตรีทุกท่านเก็บมาฝากคะ

ข้อควรรู้ของสาวๆ ในการใช้รถหน้าฝน

1. ก่อนออกจากบ้าน ตรวจดูสภาพความพร้อมของที่ปัดน้ำฝน เป็นอันดับแรกว่าใช้ได้หรือเปล่า
สำคัญที่สุดนะคะเวลาฝนตก

2. ตรวจดูไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยวไฟกะพริบ ไฟถอยหลังว่าใช้การได้ดีทุกอย่างหรือเปล่า
ในกรณีฝนตกหนักไฟ เหล่านี้จะเป็นตัวส่งสัญญานให้เราทุกอย่าง

3. ตรวจดูแบตเตอรี่สม่ำเสมอ โดยการเติมน้ำกลั่นที่หม้อแบต จะมีปุ่มหลายปุ่มหมุนออกดู
ถ้าแห้งก็เติมได้คะ น้ำกลั่นหาซื้อได้ที่ ร้านจำหน่ายอะไหล่รถทั่วไป
เพราะในเวลากลางคืนพอฝนตกหนัก รถจะใช้กระแสไฟฟ้ามากแบตเตอรี่อาจจะอ่อนลง

4. ดูสภาพยางรถยนต์ทั้ง 4 เส้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานไม่อ่อนและแข็งเกินไป
สาว ๆ อาจจะขอพนักงานเติมลมให้ได้คะ เวลาไปเติมน้ำมันที่ปั๊ม ถ้าดูที่ดอกยางมันสึกไป แนะนำให้ไปร้านยาง
ถ้าไม่ดีควรเปลี่ยนใหม่ เพราะถนนจะลื่นและถ้ายางไม่ดี รถจะไม่เกาะถนน

5. ตรวจสอบเบรคด้วยการเหยียบย้ำ ๆ ดู ว่าเบรคสึกหรือตื้นไป
และให้เหยียบย้ำ ๆ มากขึ้นเมื่อพ้นสภาพถนนเปียก เป็นการไล่น้ำออกจากเบรคและให้เกิดความร้อน
และมีประสิทธิภาพในการใช้งานต่อไป

6. ควรขับรถอย่างระมัดระวัง ไม่เร็วเกินไปเนื่องจากเครื่องยนต์ เกิดจากความร้อนเมื่อถูกความเย็น
จะทำให้เกิดความร้อนขึ้น มีผลต่อกระแสไฟฟ้าและลัดวงจร เป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับได้

7. หากรถดับให้เปิดฝากระโปรง หาผ้าแห้ง (ควรมีติดรถ) ซับบริเวณเครื่องยนต์
ถ้ามีสารเคมี เพื่อฉีดพ่นเครื่องยนต์ ไล่ความชื้น ได้ด้วยก็จะดี (มีจำหน่ายตามร้านขายอะไหล่)

8. หากเกิดฝ้าบริเวณกระจกหน้า ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดเป็นระยะ ๆ เพื่อทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่

9. หากหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถนนมีน้ำท่วมขังไม่ได้ ให้ปิดเครื่องปรับอากาศชั่วคราวนะคะ
เพราะน้ำอาจจะเข้าไปที่พัดลมเครื่องปรับอากาศ ทำให้เสียได้
และพัดลมหม้อน้ำจะตีเอาน้ำที่เข้ารถเป็นละอองปกคลุมในห้องเครื่อง เป็นสาเหตุให้รถดับได้

10. หากฝนตกหนัก ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี ให้ขับรถออกข้างทาง และไม่ขวางทางการจราจร
รอจนกว่าฝนเบาลง เพื่อความปลอดภัยของเราและผู้อื่น ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย

เกียร์มีเสียงดัง


เสียงดังที่เกิดจากตัวเกียร์ จากประสบการณ์ก็แยกออกได้เป็นสามเสียง
เสียงแรก จะเกิดจากนอกห้องเกียร์ เป็นเสียงแตกเสียงคราง หรือเสียงหอน
เกิดจากชิ้นส่วนที่ช่างมักเรียกกันว่า ลูกปืนปลายเกียร์สี่ หรือ ลูกปืนฟลายวีล (Pivot bearing)
เป็นลูกปืนที่ฝังอยู่กับฟลายวีล โดยมีเพลาของปลายเกียร์สี่ (Input shaft) สอดแน่นอยู่ในนั้นตลอดเวลา
ลูกปืนจะหมุนตลอดเวลาที่เครื่องยนต์หมุน

ความร้อนที่เกิดขึ้น การเสียดสีของเหล็ก (ลูกปืน) กับ เสื้อลูกปืน ตลอดเวลา
ทำให้ลูกปืน และเสื้อสึกหรอ เกิดเสียงดัง นานเข้าก็จะได้ยินมาถึงห้องโดยสาร

วิธีการแก้ไขมีทางเดียว คือ เปลี่ยนลูกปืน อาการก็จะหายขาด
ส่วนวิธีป้องกันมีทางเดียว คือ ทุกครั้งที่ยกเกียร์ออกเปลี่ยนชุดผ้าคลัตช์ก็เปลี่ยนลูกปืนนี้ไปพร้อมกัน
เสียงดังจากลูกปืนปลายเกียร์สี่ก็จะไม่มีให้ได้ยิน

การรอให้ลูกปืนแตกชำรุดแล้วเปลี่ยนเฉพาะลูกปืน ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่าย
เพราะค่าแรงที่เปลี่ยนลูกปืนนี้ เท่ากับค่าแรงที่ยกคลัตช์ ถ้าทำไปพร้อมกันค่าแรงก็ เท่ากับที่ยกคลัตช์เท่านั้น


เสียงหอนจากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่ง
เสียงนี้เป็นเสียงที่แก้ไขได้ยากและต้องเสียเงินเสียทองกันมาก
เช่น เสียง เกียร์สามหอน ในขณะเร่งเครื่องลากเกียร์ เพื่อจะเปลี่ยนเป็นเกียร์สี่
อาการนี้มักจะเกิดจากการสึกหรอ ที่เรียกว่า เป็นตามดในลูกปืนของชุดเกียร์ทั้งราว
หรือเกิดจากการสึกหรอที่เฟืองเกียร์จนเป็นตามดของชุดเฟืองเกียร์สาม

ทางแก้มีวิธีเดียว คือ
การยกเกียร์ผ่าเกียร์ ออกมาตรวจดูการสึกหรอ (ตามด,ไหม้)ของลูกปืนเกียร์และเฟืองเกียร์
จะมีค่าใช้จ่ายสูงและยากที่จะแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นอกจากเปลี่ยนลูกปืนในห้องเกียร์ รวมทั้งเฟืองเกียร์ทั้งหมด
ทางเลือกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการหาเกียร์มือสอง จากเซียงกงมาเปลี่ยน

การป้องกันการสึกหรอในแบบนี้ก็คือ การหมั่นเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ (ตามหนังสือคู่มือ)
เลือกใช้น้ำมันเกียร์ในเกรดหรือชนิดที่ถูกต้องที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดเอาไว้
และเปลี่ยนพฤติกรรมการขับที่จะลากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่งนานๆ
พร้อมทั้งตรวจระดับน้ำมันเกียร์ และท่อหายใจของเสื้อเกียร์อย่างสม่ำเสมอ



เกียร์มีเสียงคราง หรือพูดกันทั่วไปว่าเกียร์ดัง
เสียงเกียร์ครางจะเกิดขึ้นจากการติดเครื่องเข้าเกียร์ว่างแล้วจะได้ยินเสียงเกียร์ดัง (เฟืองเกียร์สองเฟืองกระทบกัน)
และเสียงนี้จะหายไปเมื่อกดหรือเหยียบแป้นคลัตช์เพียงเบาๆ
ต้องมาเข้าใจกันก่อนว่า เมื่อเครื่องยนต์ติดเครื่องและอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างชุดคลัตช์ (ผ้าคลัตช์ หวีคลัตช์)
ที่เกาะอยู่กับฟลายวีลจะหมุนตามการหมุนของฟลายวีล (เครื่องยนต์) ตลอดเวลา(คลัตช์จับ)
พร้อมๆ กับเฟืองปลายเกียร์สี่ (Input shaft) ทีจะมีเฟืองตัวหนึ่งไปขบกับเฟืองชุดเพลารอง (Counter shaft)
ทำให้ชุดเฟืองของเพลารองหมุนตามเครื่องอยู่ตลอดเวลา การหมุนตามเครื่องของเฟืองเกียร์สี่และเพลารอง
ทำให้มีเฟืองตัวอื่นๆ หมุนตามด้วยแม้จะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง การขบกันของเฟืองแต่ละคู่
แม้จะเป็นเพียงการหมุนตามกันก็ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นได้ (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน)

ในระหว่างเฟืองสองเฟืองที่ขบกันอยู่นี้ จะมีช่องว่างที่เรียกว่า แบกแลช (Backlash) เป็นระยะเศษเสี้ยวของ
พันมิลลิเมตร เพื่อให้มีช่องทางที่น้ำมันเกียร์จะระบายความร้อนและหล่อลื่นเฟืองเกียร์นั้นๆ
เสียงครางจะดังมากดังน้อย ขึ้นอยู่กับความห่างระหว่างเฟืองทั้งสองตัวห่างมากก็ดังมาก ห่างน้อยก็ดังน้อย
และถ้าชิดเกินไปเฟืองก็จะไหม้

การพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะมองถึงระยะห่างของร่องเฟืองแล้ว
ยังต้องมองถึงระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟือง (End play) ที่อยู่ในแถวเดียวกันด้วย ในหลายๆ กรณีที่ระยะห่างของ
เฟืองต่อเฟือง ที่ขบกันจะมีระยะห่างที่พอดีหรือเหมาะสมตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดหรือออกแบบไว้แล้ว
แต่ระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟืองถ้าพลาดไปจากที่ถูกออกแบบไว้ (เศษของพันมิลลิเมตร)
ก็จะทำให้เฟืองเบียดกันส่งผลถึงการขบกันระหว่างที่ผิดไป เสียงดังก็จะเกิดขึ้นมีมากมาย

หลายคำถามที่บอกว่า แล้วชุดคลัตช์มาเกี่ยวด้วยอย่างไร
เพราะเมื่อแตะ กด เหยียบคลัตช์เพียงเบาๆ เสียงที่ได้ยินก็เงียบหายไป
คำตอบมีอยู่ว่า ทันทีที่เท้ากดไปบนแป้นคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์ในหัวหมูเกียร์จะวิ่งไปกดแผ่นกดคลัตช์
ทำให้ผ้าคลัตช์ถอยห่างจากฟลายวีล กำลังงานจากเครื่องยนต์ก็จะหยุดอยู่ที่ฟลายวีลเท่านั้น
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า คลัตช์จาก เมื่อคลัตช์จากเฟืองเกียร์สี่ไม่หมุน ชุดเพลารองไม่หมุนตาม
ทุกส่วนในห้องเกียร์หยุดการเคลื่อนไหว เสียงที่ได้ยิน (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน)
จึงไม่มี เกียร์ครางเมื่อเกียร์ว่าง เกิดขึ้นได้กับทั้งรถใหม่และรถเก่า
ถ้าเป็นรถเก่าเฟืองเกียร์สึกหรอ ระยะชิดของเฟืองในแถวจะห่างกัน แก้ไขโดยการเปลี่ยนเฟืองเกียร์หรือ
ปรับตั้งทั้งระยะห่างและระยะชิด รถใหม่ (ไม่ถึงหกหมื่นกิโลเมตร)
ผ่าเกียร์ตรวจสอบระยะห่างแบกแลชและระยะชิด (End play) แล้วปรับตั้งใหม่
หรือออกแบบเฟืองเกียร์ ปรับปรุงวัสดุ กันใหม่ แน่นอนครับที่ผู้ผลิต (รถใหม่) ยากที่จะยอมรับความจริงในข้อนี้

ที่มา คมชัดลึก




เกร็ดน่ารู้ เพื่อยืดอายุการใช้งานแอร์รถยนต์

1. ตรวจเช็คระบบปรับอากาศรถยนต์ของคุณทุกๆ 3-6 เดือนจากร้าน
หรือศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน

2. ควรหมั่นสังเกตระบบแอร์รถยนต์ของคุณด้วยตนเอง
หากแอร์ในรถของคุณความเย็นเริ่มลดลง ให้สันนิษฐานว่า อาจมีการรั่วของน้ำยาแอร์ หรือ
ท่อต่างๆในระบบอุดตัน ให้รีบนำรถของคุณเข้าตรวจเช็คโดยด่วน

3. ต้องแน่ใจว่ารถยนต์ของคุณใช้ระบบปรับอากาศระบบ R-12
หรือระบบ R-134a กันแน่ เพื่อป้องกันการผสมกันของน้ำยาแอร์

4. อย่าผสมน้ำยาแอร์ระบบ R-12 และ R-134a เข้าด้วยกัน
เพราะจะทำให้ระบบแอร์รถยนต์ของคุณเสียหายได้

5. น้ำมันคอมเพรสเซอร์ของระบบ R-12 และ R-134a ไม่สามารถใช้แทนกันได้

6. หากคุณไม่แน่ใจว่ารถยนต์ของคุณใช้ระบบ R-12 หรือ R-134a ให้เปิดตรวจเช็คจาก
ห้องเครื่องที่กระโปรงรถของคุณ โดยดูที่หัวเติมน้ำยาแอร์ ถ้าเป็นระบบ R-12 หัวเติมจะเป็น
แบบเกลียว แต่ถ้าเป็นระบ R-134a หัวเติมจะเป็นแบบตัวล๊อค

7. จำไว้ว่ารถยนต์ที่ผลิตก่อนปี พ.ศ.2538 ใช้กับแอร์ระบบ R-12 เท่านั้น
ส่วนรถยนต์ที่ผลิตหลังปี พ.ศ.2538 เป็นต้นไปจะใช้ระบบแอร์ R-134a
(ยกเว้นรถกระบะต้องผลิตหลังปี พ.ศ.2539)

8. การรั่วซึมในระบบแอร์รถยนต์ อาจเกิดจากการหมดอายุการใช้งานของอะไหล่ได้

9. หากคุณต้องเติมน้ำยาแอร์บ่อยติดๆกันในเวลา 3 เดือน
อาจเกิดการรั่วในระบบแอร์ของคุณเข้าแล้ว

10. ระมัดระวังอย่าใช้น้ำยาแอร์ที่ติดไฟได้

11. การถ่ายเทอากาศ การสูบบุหรี่ในรถ ขณะเปิดแอร์ จะทำให้อากาศภายในรถไม่บริสุทธิ์
จึงควรเปิดช่องระบายอากาศเพื่อไล่ควันบุหรี่ออกไป และเมื่อใช้แอร์เป็นระยะเวลานานๆ
การเปิดช่องระบายอากาศเป็นระยะ จะทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้น

12. เมื่อไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานานหลายวัน
ควรติดเครื่องยนต์แล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที
เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำยาแอร์ที่ซีลคอมเพรสเซอร์

13. ควรจอดรถยนต์ในที่ร่ม การจอกรถกลางแดดนาน จพทำให้ภายในรถร้อนอบอ้าว
ต้องใช้เวลานานกว่าจะเย็นลงได้ ในกรณีนี้ควรเปิดประตูหรือกระจกไว้สักครู่
ก่อนจะขับรถออกจากที่จอดรถ

14. ควรปิดช่องระบายอากาศและกระจกให้มิดชิด ขณะใช้เครื่องปรับอากาศ
เพื่อป้องกันมิให้ลมร้อนภายนอกไหลเข้ามาภายในตัวรถ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเย็นลดลงได้

15. ในการขับรถขึ้นเขา เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้น ควรปิดเครื่องปรับอากาศเป็นครั้งคราว
เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์และป้องกันเครื่องยนต์ร้อนเร็วขึ้นด้วย

16. ควรทำความสะอาดแผงระบายความร้อนที่อยู่หน้าหม้อน้ำ โดยใช้ลมเป่าหรือใช้น้ำฉีด
แล้วใช้แปรงขนอ่อนๆ แปรงสิ่งสกปรกที่อยู่ตามครีบออกให้สะอาด เพียงเท่านี้
ก็จะช่วยยึดอายุการใ้งานแอร์รถยนต์ของท่านให้ยาวนาน และยังทำให้แอร์เย็นขึ้นอีกด้วย

เอกสารเผยแพร่
หน่วยอนุรักษ์โอโซน สำนักงานควบคุมวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม

เกร็ดควรรู้ในการดูแลรถให้ดูใหม่เสมอ


คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจซื้อรถด้วยเหตุผลของราคา ประโยชน์ใช้สอยและอัตราการกินน้ำมันของเครื่องยนต์
น้อยคนที่จะนึกถึงการบำรุงรักษาเครื่องยนต์หลังจากได้เป็นเจ้าของรถแล้ว
ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้าของรถควรทราบและคำนึงถึง วันนี้จึงมีข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าของรถ
เพื่อยืดอายุการใช้งานพาหนะคู่ใจ และการบำรุงรักษาให้เหมือนใหม่เสมอ ดังนี้

ปฏิบัติตามคู่มือการใช้รถยนต์ที่ให้มาตอนซื้อรถ
ถ้ามีตารางการซ่อมบำรุงก็ใช้เป็นแนวทางในการตรวจเช็ครถ
แต่ควรตรวจเช็คในคู่มืออีกทีว่าถึงเวลาเปลี่ยนอะไหล่เมื่อไหร่

อย่าลืมเปลี่ยนสายพานเมื่อรถวิ่งได้ทุกๆ 60,000 – 90,000 ไมล์
การเปลี่ยนสายพานราคาอาจจะสูงสักหน่อย แต่ก็ถูกกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหากสายพานขาด

หยอดกระปุกไว้สำหรับการซ่อมบำรุงรถ
เพราะในแต่ละปีคุณควรจะมีงบในการบำรุงรักษารถ 5,000 – 20,000 บาท แล้วแต่อายุการใช้งาน
ถ้ามีการสะสมงบเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับรถ ก็จะไม่กระทบกับการเงินของคุณ

หาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์รุ่นที่คุณใช้
รถทุกรุ่นมักจะมีเว็บไซต์ของตัวเอง บอกข้อมูล และปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเวลาใช้งาน
คุณจะได้มีความพร้อมที่รับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถของคุณ

เวลาขับขี่คอยสังเกตว่ามีเสียง หรือกลิ่นที่ผิดไปจากปกติเกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ามีควรปรึกษาช่างเพื่อหาสาเหตุ ผู้ใช้รถเป็นประจำเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ

เมื่อเกิดความเสียหายกับรถให้ซ่อมทันที แม้ว่าจะเป็นความเสียหายเล็กน้อย
อาทิ เบาะที่นั่งขาด หรือสายไฟหลุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น หรือสร้างความรำคาญให้กับคุณเอง

ใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพ
หากมีงบประมาณจำกัดไม่สามารถซื้ออะไหล่แท้ควรปรึกษาช่างเพื่อหาทางเลือก
การซื้ออะไหล่แท้มือสองก็เป็นอีกทางที่จะได้ของคุณภาพในราคาย่อมเยา

ทำความสะอาดรถอย่างสม่ำเสมอ
สีรถนอกจากจะช่วยให้รถดูดี ยังเป็นการปกป้องวัสดุข้างในด้วย
ควรล้างรถเป็นประจำ ถ้าน้ำเริ่มไม่เกาะเป็นหยดๆ บนสีรถ ให้ลงแว็กเคลือบสี

ควรขับรถอย่างนิ่มนวล แม้ว่าการขับรถด้วยความเร็วสูงบ้างในบางครั้ง
จะช่วยให้เครื่องยนต์มีความคล่องตัว แต่ไม่ควรเหยียบคันเร่งจนมิด หรือขับรถโดยใช้ความเร็วสูงตลอด
เพราะไม่เป็นผลดีต่อเครื่องยนต์

เท่านี้คุณก็ยิ้มได้อย่างภูมิใจเมื่อมีคนพูดอย่างชื่นชมว่ารถคุณยังดูใหม่แม้ว่าจะวิ่งได้ 150,000 ไมล์ แล้ว








กำจัดเสียงกวน ในระบบเสียงรถยนต์

นอกจากเสียงรกๆ หูดังที่เคยพูดถึงแล้ว ยังมีเสียงรบกวนจากระบบมาให้คุณได้ปวดหัวอีก
ถ้าไม่รู้วิธีกำจัดเราก็จะต้องทนกับชุดที่เสียงอัปลักษณ์ไปอีกนานแสนนาน

เสียงรบกวนที่มีในระบบเครื่องเสียงรถยนต์นั้น มีมากกว่าที่คิด จะยกตัวอย่างประสบการณ์มา
เล่าสู่กันฟัง เช่น เวลาเจอเสียงฮัมในระบบเครื่องเสียงรถยนต์ ต้องมาไล่เรียงว่าเกิดอะไรขึ้น
เสียงฮัมที่ว่านั้น เกิดขึ้นหลังจากติดตั้งชุดเครื่องเสียงมาแล้วร่วมปี การติดตั้งร้านก็ทำมาดี
ประณีตและไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นจุดอ่อน จนกระทั่งหลังสุดรถไปตกหลุมรุนแรง ก็เลยต้องมี
การซ่อมแซมปรับเปลี่ยนช่วงล่างกันใหม่ สิ่งที่ได้หลังจากซ่อมรถคือ เสียงรบกวนในระบบเสียง
ตามมาด้วย มันน่ารำคาญมากทีเดียว ซึ่งเสียงฮัมนั้นมาเป็นจังหวะบ้าง มาไม่เป็นจังหวะบ้าง
บางครั้งทำท่าเหมือนหายไป แล้วจู่ๆ ก็มาทักทายอีก

การรื้อภาคหน้าหรือเฮดยูนิตออกมาดู น่าจะเป็นลำดับสุดท้ายที่เราควรทำ เพราะมันเต็มไปด้วย
เส้นสายไฟ สายสัญญาณ ที่ยุ่งเหยิง เสียเวลามาก มาลองดูกันในจุดง่ายๆ ก่อน
นั่นก็คือการต่อเชื่อมสัญญาณจากฟร้อนท์เอ็นด์มายังเพาเวอร์แอมป์ โชคดีมากที่เราพบว่า
สายเชื่อมต่อที่เป็นอาร์ซีเอ สองเส้นซ้ายขวา เส้นข้างขวานั้น มีอาการขาดใน
คือช่างเขาเชื่อมหรือบัดกรีเอาไว้ระหว่างสาย กับหัวแจ็ค แต่เมื่อนานไปเข้า เกิดการผุกร่อน
และเจอแรงกระแทกแรงๆ มันก็หลุดขาด แต่ยังมีส่วนที่ต่ออยู่กับแกนนั้น
ตัวนำสายชนหัวแจ็คอยู่แบบปริ่มๆ อาการเสียงฮัมบ้าง ดังบ้างแบบไม่ปะติดปะต่อจึงบังเกิดขึ้น
เอาออกมาบัดกรีเชื่อมเข้าไปใหม่ อาการหายเป็นปลิดทิ้ง
หากเป็นปัญหาที่อื่นแล้วล่ะก็ เห็นทีจะยุ่งยากกว่านี้อีกหลายเท่าล่ะครับ

เพราะบางคนโชคไม่ดี สายที่ต่อภายในเครื่องหลุด หลวม หรือเป็นที่แผ่นปริ๊นท์ที่บกพร่อง
ทำให้เกิดเสียงฮัมขึ้นมาอย่างรุนแรง แล้วก็หาสาเหตุได้ยาก
ต้องตรวจสอบกันอย่างจริงจังด้วยเครื่องมือเท่านั้น

เสียงกระตุกเป็นจังหวะจากไฟรั่ว ตรงนี้น่ากลัวกว่า

การต่อระบบเครื่องเสียงรถยนต์ที่ไม่รอบคอบ ประกอบกับรถเก่าที่ระบบไฟเริ่มรวนแล้ว
การพ่วงต่อจุดกำเนิดไฟไม่ถูกต้อง การเสริมอุปกรณ์ที่ไม่แมทช์ หรือระบบวงจรเครื่องบางอย่าง
ที่มีปัญหาถูกเสริมลงไปในซิสเต็ม ทำให้ระบบไฟทะลักเข้าไปในเครื่อง ดังพลั่กๆ
ดังนั้นช่างติดตั้งต้องแก้ปัญหาได้ มิฉะนั้นเราลำบากแน่เพราะไม่สามารถทำเองได้

ผมเคยเจอกับการต่อปรีแอมป์เสริมเข้าไปในระบบเดิมๆ เจ้าของชุดกะว่าจะแต่งเสียงให้มันเลิศ
ขึ้นไปอีกสักหน่อย กลับต้องผิดหวังเพราะวงจรของเครื่องปรีแอมป์ทำพิษเสียเอง
คือไม่สามารถคุมไฟ ปรับระดับไฟให้เรียบได้ อันเนื่องมาแต่ความเสื่อมของตัวอุปกรณ์ หรือ
วงจรที่ไม่สมบูรณ์ เสียงพลึ่กพลั่กดังออกลำโพงอย่างน่ากลัว มันรบกวนตลอด ไม่ว่าจะเปิด
เสียงดัง หรือเบาสักแค่ไหน แสดงว่าย่อมไม่เกี่ยวกับโวลุ่มอยู่ดี เมื่อปลดเอาปรีแอมป์ออกไป
เสียงก็เรียบสนิทเหมือนเดิม

ดังนั้น อะไรที่เสริมเข้าไปจากชุดที่มีอยู่ต้องระมัดระวัง เลือกสินค้าที่ดีจริงๆ ไม่ใช่ของโนเนม
การออกแบบต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งอินพุต เอาท์พุต เสียงแตกๆจากลำโพงข้างขวา
เสียงลำโพงขวามันดังแกร็กๆ ตามจังหวะกระแทกกระทั้นของเสียงดนตรี
ทีนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้วุ่น ลำโพงตัวข้างขวา วอยซ์เบียด นี่คือจำเลยแรกที่เรามักจะคิดกัน
แต่พอทดลองย้ายลำโพงซ้ายมาไว้ด้านขวาก็เกิดอาการยังอยู่ที่ข้างขวาอีก
เอาล่ะทีนี้เราก็ต้องโทษวิทยุติดรถยนต์ หรือฟร้อนเอ็นด์ มันเป็นอะไรขึ้นมาของมัน???

แต่ความคิดที่ช่างผู้ชำนาญคิดไปอีกทางตามประสบการณ์ เขาสงสัยแผงหลังที่ทำขึ้นมาสำหรับ
ยึดลำโพง จึงทำการถอดแผงออกมาใหม่ปรับลดขนาดไม่ให้มันชิดตัวถังรถจนเกินไป

น่าประทับใจครับ หลังจากวางแผงไม้ลงไปใหม่ ก็จัดการขันสกรูทีละน้อยให้บาลานซ์กันทุกจุด
คือจะไม่ขันสกรูให้ฟิตแน่นที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วไล่เรียงกันไปยังจุดอื่นๆ ให้แผ่นไม้ได้รับการ
ยึดติดไปพร้อมๆ กันทุกมุม เสียงรบกวนหายไปได้อย่างหมดจด เทคนิคตรงนี้ดูธรรมดา
แต่มักจะถูกละเลยจากช่างติดตั้ง “กามนิตหนุ่มรุ่นใหม่ๆ” ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา

ดังนั้นปัญหาเสียงรบกวนเบื้องต้นจะไม่มีถ้าติดตั้งกันอย่างประณีตและรอบคอบครับ

บทความโดย วิจิตร บุญชู
ที่มา คมชัดลึก